AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

การลงทุนในอินโดนีเซีย

การลงทุนในอินโดนีเซีย

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

ประเทศอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนด้วยเม็ดเงินที่สูงเนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ในเอเชียโดยเป็นรองแค่จีนและอินเดียเท่านั้น ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 6.5% ในปีหน้า นอกจากนี้บรรดาสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency: CRA) ทั้ง Moody’s Investors Service และ Fitch Ratings ต่างปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอินโดนีเซียขึ้นมาอยู่ในระดับ Investment Grade จากเดิมอยู่ในระดับ Non-Investment Grade มากว่า14 ปี อันดับความน่าเชื่อถือที่สูงขึ้นนี้คือหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนทั่วโลกสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวประกอบกับการที่อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียนที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั่วโลก
สำหรับนักลงทุนไทยนั้นประเทศอินโดนีเซียถือเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่น่าเข้าไปลงทุนด้วยปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ เช่น ขนาดตลาดของอินโดนีเซียที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรสูงถึง 250 ล้านคน ทำให้มีความต้องการสินค้าปริมาณมาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทอุปโภค บริโภคของไทยซึ่งเป็นที่นิยมสูงในหมู่ชาวอินโดนีเซีย เนื่องจากชาวอินโดนีเซียมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทยและมักมองสินค้าไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสมราคา ปัจจุบันมีสินค้าแบรนด์ไทยที่วางขายในอินโดนีเซียหลายยี่ห้อ เช่น สาหร่ายเถ้าแก่น้อย ถั่วทองการ์เด้น เป็นต้น นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำมัน เหมืองแร่และถ่านหิน ทำให้ที่ผ่านมามีบริษัทใหญ่ๆ หลายรายเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย เช่น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เครือซีเมนต์ไทย (SCG) รวมไปถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่เข้าไปลงทุนในกิจการอาหารสัตว์
นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับของคนไทยหลายประการ เช่น นิยมช่องทางจำหน่ายสินค้าที่เข้าถึงได้สะดวกและมีการบริการที่รวดเร็ว เนื่องจากชาวอินโดนีเซียต้องเผชิญกับปัญหาสภาพการจราจรที่ติดขัดเช่นเดียวกับชาวไทย โดยเฉพาะในสภาพการจราจรในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียที่ติดอันดับ 10 เมืองที่มีปัญหาการจราจรรุนแรงที่สุดของโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ปัญหาการจราจรนี้ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียต้องการความรวดเร็วและความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันจึงนิยมซื้อสินค้าจากแหล่งจัดจำหน่ายที่เข้าถึงง่ายอย่างร้านสะดวกซื้อ นิยมรับประทานอาหารที่สามารถรับประทานได้รวดเร็ว เช่น อาหารพร้อมปรุง พร้อมรับประทานต่างๆ อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งปัจจุบันตลาดผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของอินโดนีเซียนั้นใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียยังมีพฤติกรรมติดอินเตอร์เน็ตอีกด้วย โดยชาวอินโดนีเซียใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 1.5 ชั่วโมงต่อวัน และนิยมค้นหาข้อมูลสินค้าบนสื่ออินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า การทำตลาดบนสื่อออนไลน์จึงมีความสำคัญค่อนข้างมากในปัจจุบันเช่นเดียวกับผู้บริโภคชาวไทยที่การตลาดบนสื่อออนไลน์โดยเฉพาะบรรดาสังคมออนไลน์อย่าง Facebook หรือ Instagram ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก
แม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่น่าลงทุนเพียงใดแต่ก็ยังมีอุปสรรคการลงทุนบางประการที่ผู้ประกอบการไทยซึ่งจะเข้าไปลงทุนควรเตรียมความพร้อมก่อนเข้าไปทำธุรกิจ อาทิ การแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในภาคธุรกิจทั้งจากผู้ประกอบการท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ ระบบราชการของอินโดนีเซียที่ช้ายิ่งกว่าระบบราชการไทย โดยการติดต่องานราชการอินโดนีเซียต้องใช้เวลานานมาก ยกตัวอย่างเช่น การตั้งบริษัทใหม่ต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 – 1.5 เดือนเมื่อเทียบกับประเทศไทยที่ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายของอินโดนีเซียก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ กฎระเบียบด้านการลงทุนของอินโดนีเซียก็มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ก็ยังล้าหลังพอสมควรเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายๆ ประเทศอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ซึ่งปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ของอินโดนีเซียต้องมีการแก้ไขปรับปรุงโดยเร็วเพื่อรับการลงทุนจากต่างประเทศและรองรับการเปิด AEC

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


seven + = 8