AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

มาตรการกีดกันทางการค้า

มาตรการกีดกันทางการค้า

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

การเปิดเสรีทางการค้าเมื่อสมาชิกอาเซียนตกลงเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้น ด้านการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศสมาชิก AEC ด้วยกันจะต้องมีการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรีและไม่มีการจัดเก็บภาษีระหว่างกัน ทั้งนี้ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศสามารถออกมาตรการอื่นๆ เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของประชากรในประเทศตนได้หากมาตรการดังกล่าวตั้งอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discriminatory Basis) และไม่ใช่มาตรการทางภาษี ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเรียกว่า “อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี” หรือ Non-Tariff Barriers (NTB) อย่างไรก็ดี NTB นี้สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือปกป้องอุตสาหกรรมภายในของแต่ละประเทศแทนมาตรการทางภาษี อันส่งผลให้สินค้าที่ผลิตในประเทศมีข้อได้เปรียบสินค้านำเข้าซึ่งอาจทำให้การค้าระหว่างประเทศสมาชิก AEC ไม่เป็นไปอย่างเสรีและไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

สำหรับอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) นั้นสามารถจำแนกได้เป็น 8 ประเภทด้วยกันได้แก่ (1) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) (2) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Counter-Vailing Duty: CVD) (3) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) (4) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary: SPS) (5) มาตรการอุปสรรคเทคนิคทางการค้า (Technical Barrier to Trade: TBT) (6) มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม (7) มาตรการด้านแรงงาน (8) มาตรการรูปแบบอื่นๆ เช่น การจัดซื้อโดยรัฐ การกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นต้น ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนต่างดำเนินการตาม AEC Blue Print ที่เป็นแนวทางของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยแต่ละประเทศได้ลดอัตราภาษีนำเข้าในสินค้าและบริการประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่องตาม AEC Blue Print แต่เมื่ออัตราภาษีลดลงกลับพบว่าอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศกลับเพิ่มขึ้นแทนมาตรการทางภาษี ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎระเบียบการขออนุญาตนำเข้าสินค้าที่ยุ่งยากและมากขึ้น การกำหนดมาตรฐานอาหาร มาตรฐานแรงงานหรือสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น หรือการกำหนดจุดนำเข้าสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้หากมีการใช้อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมากเกินความจำเป็นก็ถือเป็นการกีดกันทางการค้าแบบแอบแฝงนั่นเอง

ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศมีการออกกฎระเบียบการนำเข้าสินค้า การกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าตลอดจนกฎระเบียบในรูปแบบอื่นๆ เป็นจำนวนมาก เช่นกรณีประเทศอินโดนีเซียที่มีการออกกฎระเบียบและมาตรการกีดกันทางการค้า (Protectionist Measures) มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในโลกรองจากประเทศอินเดียและตุรกี ทั้งยังเป็นประเทศที่มีการออกมาตรการกีดกันทางการค้ามากที่สุดในอาเซียน (จากการรายงานขององค์การการค้าโลก) อินโดนีเซียมีการกำหนดให้สินค้าข้าวหอมมะลิต้องมีวัตถุประสงค์พิเศษในการนำเข้า เช่น นำเข้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะต้องจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้าพร้อมขอการรับรองจากกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียก่อนและขออนุญาตจากกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียในแต่ละรอบขนส่ง นอกจากนี้ยังมีมาตรการกำหนดให้หอมหัวแดงที่นำเข้าต้องผ่านการตัดรากและตัดจุกออกก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ส่งออกไทยทั้งยังทำให้หัวหอมนั้นเน่าเสียเร็วอีกด้วย อีกทั้งยังมีกรณีประเทศฟิลิปปินส์ที่กำหนดให้สินค้าไก่สดและไก่แช่แข็ง เนื้อวัวสดและแช่เย็น เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการตรวจรับรองโรงงานจากหน่วยงานของฟิลิปปินส์ ทั้งนี้แม้ไทยจะได้รับการยกเว้นให้นำเข้าเมื่อ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555 แต่ขณะนี้ฟิลิปปินส์ก็ยังมิได้ออกหนังสืออนุญาตให้

การใช้อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศนั้นส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการผลิต ขั้นตอนการขนส่งหรือขั้นตอนการขอใบอนุญาต เมื่อสินค้านำเข้ามีต้นทุนที่สูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าภายในประเทศผู้นำเข้าที่มีต้นทุนถูกกว่าก็จะต่ำลงไปด้วยเพราะมีราคาที่สูงกว่าสินค้าในประเทศ จากปัญหาการกีดกันทางการค้าดังกล่าวนักวิชาการหลายฝ่ายได้เสนอให้อาเซียนหารือให้ชัดเจนเกี่ยวกับการออกมาตรการทางการค้าที่มีผลต่อการค้าภายในภูมิภาคว่าสามารถใช้อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อปกป้องสวัสดิภาพของประชากรแต่ละประเทศได้มากน้อยเพียงใด อะไรที่ถือเป็นการกีดกันทางการค้าที่ห้ามประเทศสมาชิกกำหนดมาตรการเหล่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ตั้งหน่วยงานเพื่อตรวจสอบการดำเนินมาตรการที่ถือเป็นการกีดกันทางการค้าต่อประเทศสมาชิก AEC ด้วยกัน เพื่อให้การค้าภายใต้ AEC เป็นไปอย่างเสรีตรงตามเจตนารมณ์ของ AEC และทำให้การค้าระหว่างประเทศสมาชิก AEC ขยายตัวเพิ่มขึ้นอันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคต่อไป

แม้จะมีการตกลงให้เปิดการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติการเปิดการค้าเสรีนั้นอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศมีรายได้จากการเก็บภาษีจากข้างนอก ดังนั้นนโยบายของประเทศเหล่านั้นจึงไม่เป็นไปตามนโยบายของอาเซียน ประเด็นนี้คงต้องมีการทำความเข้าใจและโน้มน้าวให้ประเทศเหล่านั้นเข้าใจว่าแม้การเปิดเสรีจะทำให้รายได้ของประเทศที่ได้จากการเก็บภาษีศุลกากรลดลงแต่ประเทศก็จะมีรายได้จากการเก็บภาษีด้านอื่นสูงขึ้น เช่น เก็บภาษีเงินได้ (Sales Tax) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้มากขึ้นเมื่อมีการซื้อขายกันมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้หากสินค้าที่นำเข้ามาเป็นวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่โรงงานเพื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปและส่งออกอีกต่อหนึ่ง มูลค่าของสินค้าดังกล่าวก็จะสูงขึ้นเมื่อขายไปแล้วผู้ประกอบการจะได้กำไรเพิ่มขึ้น รัฐก็จะได้ภาษีเพิ่มขึ้นด้วยนั่นเอง สิ่งเหล่านี้คือเรื่องประเด็นที่ต้องมีการทำความเข้าใจแก่รัฐบาลและประชาชนทุกระดับ เพื่อหาวิธีปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั่นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


four + = 5