AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

โอกาสในลาว

โอกาสในลาว

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม. Nakrit Sawettanan ACIArb ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว เป็นประเทศล่าสุดใน ASEAN ที่เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO (World Trade Organization) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การก้าวเข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้ สปป.ลาว มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นและช่วยยกระดับภูมิภาคอาเซียนให้มีความเป็นสากลมากขึ้นตามไปด้วย การก้าวเข้าเป็นสมาชิก WTO ดังกล่าวส่งผลให้ สปป.ลาว ปรับเปลี่ยนนโยบายและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกับกรอบปฏิบัติทางการค้าของ WTO อันจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจต่างชาติที่สนใจทำธุรกิจทั้งการค้าและการลงทุนกับ สปป.ลาว มากขึ้น โดยข้อผูกพันการเปิดตลาดที่สำคัญของ สปป.ลาว อาทิ การปรับโครงสร้างภาษีสินค้านำเข้า (Bound Rate) โดยผูกพันอัตราภาษีนำเข้าทุกประเภทเฉลี่ยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 18.8 และไม่เกินร้อยละ 19.3 สำหรับสินค้าในกลุ่มเกษตร รวมไปถึงการเปิดตลาดบริการจำนวน 10 สาขาหลัก 79 สาขาย่อย เช่น บริการทางธุรกิจ บริการโทรคมนาคม การก่อสร้าง บริการโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น จึงช่วยขยายโอกาสทางการค้าและดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่าการเป็นสมาชิก WTO เต็มตัวของ สปป.ลาว ในครั้งนี้แม้อาจจะยังไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วนัก แต่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างกฎระเบียบที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากขึ้น และสถาบันการเงินอย่าง IMF คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจ สปป.ลาว น่าจะเติบโตที่อัตราสูงอย่างต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 7 ต่อปีในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2555 – 2557 ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับธุรกิจไทยเนื่องจากตามสถิติที่ผ่านมาประเทศไทยกับ สปป. ลาวเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับต้นๆ มาโดยตลอด จะเห็นได้จากสถิติมูลค่าการลงทุนใน สปป.ลาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 – 2553 พบว่าประเทศไทยเข้าไปลงทุนเป็นอับดันที่ 2 รองจากประเทศจีน และยังพบว่าในครึ่งปีแรกของปี 2555 การค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 47 สำหรับความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว ที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย – ลาว หรือ Joint Trade Committee ซึ่งต่อมากลไกนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการประชุมแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าไทย – ลาว โดยประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งลาว และให้สิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าในกรอบอาเซียน ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา สปป.ลาว สามารถส่งสินค้าไปประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งไทยได้โดยไม่ต้องเสียภาษีกว่า 300 รายการ และล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมระหว่างไทย สปป.ลาว และจีนในการอนุญาตให้มีการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างกันในเส้นทางไทย ลาว และจีน ซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์ให้สะดวกยิ่งขึ้น รวมระยะทาง 1,800 กิโลเมตร ซึ่งในปีแรกที่เปิดใช้เส้นทางนี้จะมีการยกเว้นภาษีให้รถที่เข้า-ออกประเทศละ 100 คันในการขนส่งสินค้าระหว่างกันตามชายแดน บางคนอาจจะยังคงติดภาพของ สปป.ลาว ที่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ นโยบายของรัฐบาลกลางกับนโยบายของแต่ละแขวงอาจยังไม่สอดคล้องกันในทางปฏิบัติ เส้นทางคมนาคมขนส่งภายในประเทศยังไม่ดี ปัญหาดังกล่าวนี้น่าจะหมดไปในไม่ช้าเมื่อรัฐบาล สปป.ลาว ได้อนุมัติโครงการ “Vientiane New World” ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างเขตเมืองใหม่ที่เกาะดอนจัน ริมแม่น้ำโขงในนครหลวงเวียงจันทน์ โครงการ Vientiane New World นี้เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท CAMC Engineering Co., Ltd. ของจีนกับบริษัท Krittaphong Group Co., Ltd. ของ สปป.ลาว ด้วยมูลค่าการลงทุน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะรวมเอาสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความทันสมัยและเอื้อต่อการทำธุรกิจรวมทั้งที่อยู่อาศัยระดับสูงไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีศูนย์พักนานาชาติ (International Residence Center) ซึ่งจะเป็นย่านพักอาศัยที่ดีที่สุดของชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ คาดว่าจะส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของนครหลวงเวียงจันทน์ในอีก 6 – 8 ปีข้างหน้านี้ โอกาสของนักลงทุนไทยในการเข้าไปทำธุรกิจใน สปป.ลาว นั้นยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป อาหารจากผลผลิตทางการเกษตร การรับเหมาก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งจากโครงการ Vientiane New World น่าจะเป็นอีกโอกาสหนึ่งของผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทยในการเข้าไปลงทุนก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจร้านอาหารที่หากไปดำเนินการใน สปป.ลาว ก็สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศไทยไปได้อย่างสะดวกเนื่องจากมีพรมแดนติดกันทำให้การขนส่งใช้เวลาไม่นาน นับจากนี้ สปป.ลาว น่าจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่นักลงทุนทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียนให้ความสนใจเข้าไปศึกษาและลงทุนมากขึ้น ใครจะรู้ว่าการลงทุนใน สปป.ลาว อาจนำมาซึ่งผลกำไรที่ไม่น้อยไปกว่าการลงทุนในสิงคโปร์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดก็เป็นได้ ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com ดาวโหลดเอกสาร...

พม่าผงาด

พม่าผงาด

  ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม. Nakrit Sawettanan ACIArb ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปภายหลังการจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ออกมาว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งมีนางอองซาน ซูจี เป็นประธานพรรคได้รับชัยชนะหลังจากการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปต่างมีท่าทีที่จะยกเลิกการคว่ำบาตรกับพม่า โดยสหรัฐฯ ได้ส่งทูตเข้าไปประจำในประเทศพม่าและยังอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับคัดเลือกจากฝ่ายนิติบัญญัติของพม่าเข้าในประเทศสหรัฐฯ ได้ อีกทั้งจะมีการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนสหรัฐเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศและจะให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติในโครงการพัฒนาประเทศพม่าอีกด้วย ภายหลังการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวนั้นสหภาพยุโรปยังไม่มีความชัดเจนออกมามากนักเพียงแต่เปิดเผยในเวลานั้นว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการผ่อนปรนการคว่ำบาตรกับพม่าอยู่เช่นกัน แต่ล่าสุดสหภาพยุโรปได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่ไม่ใช่มาตรการทางทหาร (Non-military) ในพม่าอย่างเป็นทางการแล้วเพื่อแสดงการยอมรับในความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยสหภาพยุโรปได้ยุติการคว่ำบาตรทั้งหมดทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ เหลือไว้แต่เพียงการค้าอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ยังคงอยู่ โดยประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปได้เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศว่าแม้ในขณะนี้พม่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำให้สำเร็จทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การต่อสู้กับความยากจนและการบรรลุสันติภาพอย่างถาวร แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่พม่าและสหภาพยุโรปจะต้องมีการสายสัมพันธ์กันมากขึ้น ความคิดเห็นที่ออกมาจากทางฝั่งของพม่าเองก็ดูจะเป็นไปในทางบวกที่พร้อมจะพัฒนาประเทศให้มากขึ้นไปพร้อมๆ กับความคาดหวังที่จะได้รับการยอมรับ โดยจะเห็นได้จากการออกมากล่าวของนายออง ลิน นักการทูตอาวุโสของพม่าที่กล่าวว่าประชาคมโลกสามารถคาดหวังกับพม่าได้ว่าจะมีการปฏิรูปมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนของเศรษฐศาสตร์สังคม และพม่ากำลังตั้งตารอการขึ้นเป็นประธานอาเซียนเป็นครั้งแรกในปีหน้าและจะแสดงให้โลกเห็นถึงความมุ่งมั่นในการปฏิรูปของพม่า พร้อมกันนี้ยังคาดหวังถึงการยอมรับจากสหภาพยุโรปที่จะมีต่อการปฎิรูปพม่าที่มากขึ้น แม้ว่าในขณะนี้พม่ายังมีอีกหลายปัญหาที่ต้องแก้ไข ทั้งปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ปัญหาความยากจน การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยรวมถึงการสร้างมาตรฐานความเป็นอยู่ให้กับประชาชนชาวพม่า แต่อย่างน้อยการยกเลิกการคว่ำบาตรพม่าในครั้งนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นของขวัญจากสหภาพยุโรปสำหรับการปฎิรูปที่เกิดขึ้นในพม่านับตั้งแต่รัฐบาลทหารตัดสินใจวางมือจากการปกครองประเทศ ซึ่งการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในครั้งนี้น่าจะสร้างความมั่นใจในการลงทุนที่จะมาจากฝั่งยุโรปมากขึ้น ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com...

กัมพูชาค่าแรงต่ำ

กัมพูชาค่าแรงต่ำ

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม. Nakrit Sawettanan ACIArb ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com กัมพูชา มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ราชอาณาจักรกัมพูชา” (The Kingdom of Cambodia) หรือชื่อที่คนไทยมักจะเรียกกันติดปากว่าเขมร กัมพูชานั้นเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรหมแดนติดต่อกับประเทศไทยทั้งทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ มีเมืองหลวงชื่อกรุงพนมเปญ มีประชากรเฉลี่ย 14.8 ล้านคน กัมพูชาเข้าร่วมกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN : The Association of South East Asian Nations) เป็นลำดับสุดท้ายใน ปี พ.ศ. 2542 ในการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในระยะเวลาอันใกล้จะถึงนี้นั้น ในคอลัมน์ฉบับนี้จะขอนำผู้อ่านไปทำความรู้จักแง่มุมต่างๆของประเทศกัมพูชาไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อนจุดแข็งของประเทศ รวมทั้งโอกาสและช่องทางการทำธุรกิจกับกัมพูชาสำหรับนักลงทุนชาวไทย หลังจากที่ประเทศกัมพูชาถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2496 ประเทศนี้เผชิญกับสงครามกลางเมืองโดยมีการแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝั่งรัฐบาลและฝ่ายสังคมนิยม หลังสงครามกลางเมืองนานหลายทศวรรษ สงครามการเมืองจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสังคมนิยมซ้ายจัดหรือเขมรแดง จากนั้นกัมพูชาได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์ กล่าวคือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6.0% เป็นเวลานาน 10 ปี ภาคสิ่งทอ เกษตรกรรม ก่อสร้าง เสื้อผ้าและการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งได้นำไปสู่การลงทุนจากต่างชาติและการค้าระหว่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 มีการค้นพบแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติใต้น่านน้ำอาณาเขตของกัมพูชา เป็นที่เชื่อกันว่าเมื่อมีการสำรวจและขุดเจาะภายในปี พ.ศ. 2556 นี้ จะพบน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก นอกจากการลงทุนของต่างชาติแล้วการท่องเที่ยวก็ยังเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้กัมพูชาอย่างมาก เนื่องจากกัมพูชาถือเป็นเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย ในทุกๆวันจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปชื่นชมความงามของอารยะธรรมขอมโบราณและความงามทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลือในสถานที่สำคัญต่างๆ อาทิ นครวัด นครธม และปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชาจำนวนมาก สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กัมพูชามีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นก็เนื่องจากอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำที่สุดในประเทศอาเซียน คิดแล้วตกอยู่ที่ 61 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 1,830 บาทต่อเดือนเท่านั้น จึงทำให้ได้รับความนิยมจากนักลงทุนชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นนักลงทุนชาวต่างชาติยังได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐบาลกัมพูชาผ่านมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้โดยเสรีไม่มีข้อจำกัด นักลงทุนสามารถกำหนดราคาสินค้าเพื่อส่งออกได้ ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจในกัมพูชาได้ 100% และสามารถซื้อทรัพย์สินทุกประเภทได้ยกเว้นที่ดิน แต่ทว่าชาวต่างชาติก็ยังมีสิทธิเช่าที่ดินทำกินระยะยาวถึง 99 ปี หลังจากนั้นสามารถต่อสัญญาได้ และในกรณีที่แรงงานภายในประเทศนั้นไม่พอ นักลงทุนสามารถนำแรงงานต่างชาติเข้ามาเพิ่มได้ โดยรัฐบาลได้ออกกฎหมายรองรับการอนุญาตแรงงานต่างชาติอีกด้วย นอกจากนั้นการทำธุรกรรมต่างๆ สามารถใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แทนเงินเรียลของกัมพูชาได้โดยสะดวก เพราะนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่กว่า 60% ของธุรกิจทั้งหมดในกัมพูชาจะเป็นของคนต่างชาติ อย่างไรก็ตามกัมพูชาเองนั้นยังมีสาธารณูปโภคพื้นฐานในระดับที่ต่ำ การพัฒนาในเรื่องนี้ยังต่ำ รัฐบาลก่อสร้างได้น้อย และแม้แรงงานจะมีราคาถูกตามที่ได้เสนอไปในข้างต้นแต่ทว่าแรงงานที่ทักษะนั้นกลับมีค่อนข้างน้อย รัฐบาลกัมพูชาจึงพยายามสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติให้เข้าประกอบกิจการในประเทศเพื่ออาศัยเงินลงทุนเป็นรายได้เข้าประเทศ กับเพื่อไปจัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและพัฒนาจำนวนแรงงานที่มีทักษะต่อไป จุดอ่อนอีกประการของกัมพูชาคือการที่มีภูมิประเทศเพาะปลูกทำการเกษตรได้น้อย แต่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 % ทุกปี ทำให้ต้องนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคต่างๆจากต่างประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก แม้รัฐบาลกัมพูชาจะสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ แต่ยังคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักธุรกิจจากไทยจะเข้าไปลงทุนในกัมพูชา เพราะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลระหว่างไทยและกัมพูชานั้นในปัจจุบันไม่ค่อยจะราบรื่นนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีพิพาทเรื่องแย่งชิงพื้นที่ทับซ้อนในเขาพระวิหาร ซึ่งล่าสุดได้มีการฟ้องร้องต่อศาลโลกและในปัจจุบันยังรอฟังคำวินิจชี้ขาดอยู่ จึงมีผู้เกรงว่าความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาในประเด็นดังกล่าวอาจบั่นทอนโอกาสขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศในอนาคตได้ แต่ถ้าหากรัฐบาลทั้งสองประเทศตกลงกันระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อไทยหลายประการ อนึ่งไทยสามารถที่จะส่งออกสินค้าเกษตรอุปโภคซึ่งไทยผลิตได้มากไปยังกัมพูชา ซึ่งการขนส่งทำได้ง่ายกว่าชาติอื่นเพราะพรหมแดนติดกันและคนกัมพูชายังนิยมสินค้าจากไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเข้าไปลงทุนในกัมพูชาที่มีค่าแรงงานถูกน่าจะคุ้มค่าต่อนักลงทุนไทย ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้นไทยและกัมพูชามีโอกาสที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันโดยอาศัยพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นประโยชน์ จะสามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามโอกาสของนักลงทุนไทยในกัมพูชายังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองของทั้งสองประเทศเป็นหลัก ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com...

โอกาสในสิงคโปร์

โอกาสในสิงคโปร์

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม. Nakrit Sawettanan ACIArb ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) ประเทศเกาะเล็กๆที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนกับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในระยะเวลาอันใกล้จะถึง เกาะแห่งตะวันออกไกลแห่งนี้ได้กลายเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจต่อการลงทุนมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกประเทศหนึ่ง ในคอลัมน์ฉบับนี้จะขอนำผู้อ่านเข้าไปรู้จักกับความเป็นมาของรากฐานทางเศรษฐกิจอันเข้มแข็งของประเทศสิงคโปร์ตลอดจนโอกาสและช่องทางในการลงทุนกิจการต่างๆ รวมทั้งโอกาสในการเข้าไปประกอบอาชีพในประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจประเทศนี้สำหรับนักลงทุนชาวไทย ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นอันใกล้นี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นเพียงประเทศเล็กๆที่มีข้อจำกัดทางทรัพยากรทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคลแต่ทว่าสิงคโปร์มีรายได้หลักมหาศาลจากการค้าขายด้วยภูมิประเทศของสิงคโปร์อยู่เป็นเกาะติดกับชายฝั่งทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนิเชีย จึงทำให้สะดวกต่อการทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางแลกเปลี่ยนสินค้าจากทั่วมุมโลกและกระจายสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั้งนี้รัฐบาลของสิงคโปร์ได้จัดให้มีท่าเรือน้ำลึกที่มีความทันสมัยมากและเขตการค้าปลอดภาษีสินค้าที่สิงคโปร์นำเข้าจะมีราคาถูก ในการค้าขายระหว่างประเทศนั้นสิงคโปร์ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้การติดต่อค้าขายกับนานาประเทศมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้สิงคโปร์ถูกจัดให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก เมื่อเทียบกับ ลอนดอน โตเกียว และ นิวยอร์ก ปัจจุบันการเข้าไปทำงานในสิงคโปร์ของคนต่างชาติไม่ใช่เรื่องยาก ด้วยเหตุที่สิงคโปร์นั้นมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรบุคคล จึงทำให้สิงคโปร์จ้างแรงงานจากต่างชาติให้เข้ามาทำงานเป็นจำนวนมหาศาล ในต่อปีมีจำนวนหลายพันคน ทั้งนี้รัฐบาลของสาธารณรัฐสิงคโปร์ได้สนับสนุนโดยมีการแจกสวัสดิการให้แก่แรงงานต่างด้าวที่มีฝีมือเพื่อเป็นการจูงใจให้เข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์ อาทิมีการแจกทุนการศึกษาสำหรับสาขาวิชาชีพต่างๆที่ยังขาดแคลนบุคลากรฝีมือดี หรือการลดหย่อนภาษีสำหรับแรงงานต่างด้าว ดังนั้นโอกาสในการเข้าไปรับจ้างแรงงานในประเทศสิงคโปร์จึงยังคงเปิดกว้างเสมอสำหรับชาวต่างชาติที่มีความรู้และความสามารถ ในส่วนของการลงทุนข้ามชาตินั้นรัฐบาลของสิงคโปร์ได้สนับสนุนให้บริษัทต่างด้าวเข้ามา ลงทุนกันอย่างแพร่หลาย โดยรัฐบาลสนับสนุนให้ต่างชาติลงทุนเป็นเจ้าของธุรกิจประเภทต่างๆได้ 100% เว้นแต่เฉพาะกิจการประเภทการกระจายเสียง การจัดสรรคลื่นความถี่และประเภทกิจการด้านหนังสือพิมพ์ นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลยังอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่มาลงทุนในสิงคโปร์สามารถซื้อและเป็นเจ้าของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นได้อีกด้วย อีกปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสูงก็คือการเมืองภายในของสิงคโปร์ที่มีเสถียรภาพและการเมืองมีความโปร่งใส อัตราการทุจริตโกงกินน้อย ด้วยหลายปัจจัยบวกหลายประการข้างต้นเป็นเหตุให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีชาวต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันนักลงทุนในสิงคโปร์โดยส่วนใหญ่มาจากเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ธุรกิจที่ชาวต่างชาตินิยมเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์มากที่สุดคือธุรกิจสาขาการเงินและการประกันภัย ธุรกิจสาขาการผลิต และธุรกิจสาขาการก่อสร้าง ประเทศไทยและสิงคโปร์มีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาโดยตลอดนับตั้งแต่ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสิงคโปร์เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2508 ในแง่ของการเมืองนั้นรัฐบาลทั้งสองประเทศไม่เคยมีความขัดแย้งและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีการลงนามบันทึกความเข้าใจในเรื่องต่างๆกว่า 10 ฉบับ ในส่วนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสองชาติก็อยู่ในระดับที่ดีต่างฝ่ายเป็นคู่ค้าลำดับต้นๆของทั้งสองฝ่าย จากสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2554 สิงคโปร์เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 5 ของไทย (รองจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯและมาเลเซีย) ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 9 ของสิงคโปร์ ปัจจุบันสิงคโปร์ได้ขยายฐานการลงทุนเข้าไปในหลายประเทศอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากสิงคโปร์มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรประเภทต่างๆแต่ทว่ามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูง การขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานของชาติอื่นๆมาช่วยเกื้อหนุนโดยสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุน ดังนั้นสำหรับ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้น เชื่อว่าจะได้เห็นความร่วมมือในเชิงธุรกิจที่มากขึ้นระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ ทั้งการเข้าไปทำงานประกอบอาชีพของคนไทยในสิงคโปร์ การทำธุรกิจข้ามชาติระหว่างบริษัทไทยและสิงคโปร์ ตลอดจนการร่วมมือด้านต่างๆของรัฐบาลสองประเทศที่คาดว่าจะมีมากขึ้นด้วย ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com ดาวโหลดเอกสาร...

บรูไนมั่นคง

บรูไนมั่นคง

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม. Nakrit Sawettanan ACIArb ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com บรูไนดารุสซาลามหรือประเทศบรูไนเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงมากนัก ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่บรูไนเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กเพียง 5,765 ตารางกิโลเมตรและมีประชากรไม่ถึง 500,000 คน จึงอาจทำให้ถูกมองว่าเป็นตลาดขนาดเล็กและไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนักหากเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนชาติอื่นๆ แต่ข้อดีของบรูไนคือการเป็นประเทศที่มีความมั่นคงสูงทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อันจะเห็นได้จากรายได้เฉลี่ยของประชากรต่อคนต่อปีสูงเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ซึ่งจากการประมาณการรายได้ต่อหัวของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ในปี 2554 พบว่าสูงถึง 36,583 ดอลลาร์สหรัฐ มากกว่ารายได้ต่อหัวของคนไทยเกือบ 6 เท่า รายได้หลักของบรูไนมาจากการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยบรูไนส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่สินค้านำเข้าเป็นอาหารทางการเกษตร เช่น ข้าว ผลไม้สดแช่แข็ง น้ำตาลทราย เสื้อผ้า ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชากรในบรูไนจะมีรายได้ต่อหัวสูงและมีดุลการค้าเกินดุลมาโดยตลอด สำหรับโอกาสทางธุรกิจหรือการลงทุนในบรูไนนั้น ประเทศบรูไนได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในเอเชีย การเมืองมีเสถียรภาพ ประชากรส่วนใหญ่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับดีเนื่องจากได้รับการศึกษาที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับรัฐบาลบรูไนให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศจึงอนุญาตให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเกือบทุกสาขา รวมถึงการอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100 % เว้นแต่เฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศและที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารแห่งชาติที่ยังต้องมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวบรูไนอย่างน้อยร้อยละ 30 ส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้ของบริษัทต่างชาติจะคำนวณภาษีเฉพาะรายได้ที่เกิดในประเทศบรูไนเท่านั้นในอัตราร้อยละ 30 ซึ่งรัฐบาลบรูไนได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับบริษัทต่างชาติที่ตั้งธุรกิจใหม่ภายใต้โครงการผู้บุกเบิก (The Pioneer Status Program) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีรวมถึงได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรกับอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานอีกด้วย กิจการที่รัฐบาลบรูไนพยายามเน้นให้เกิดการพัฒนามากที่สุด ได้แก่ การเกษตรและการท่องเที่ยวอันเป็นกิจการที่ไทยมีความเชี่ยวชาญมากที่สุด ซึ่งในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ แห่งบรูไนในฐานะแขกของรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2555 ได้ทำความตกลงโดยใช้จุดแข็งของทั้งสองประเทศในการทำอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลโดยมีการทำข้อเสนอโครงการร่วมกันเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ให้บรูไนสามารถใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกอาหารไปยังประเทศที่สามได้เนื่องจากประเทศไทยมีผลิตผลทางการเกษตรจำนวนมากกับทั้งมีชื่อเสียงในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมฮาลาลระดับโลก ประเทศไทยและประเทศบรูไนมีความสัมพันธ์อันดีมาโดยตลอด นับตั้งแต่ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับบรูไนเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดโดยเฉพาะในระดับราชวงศ์ที่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับราชวงศ์ ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลและผู้นำระดับสูงของกองทัพอยู่เสมอ จะเห็นได้จากล่าสุดกับการไปเยือนบรูไนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 24 – 25 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันในฐานะสมาชิกอาเซียนที่กำลังก้าวเข้าสู่การเป็น AEC ว่าจะร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียนกับขยายขอบเขตความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยอาจไม่นิยมเข้าไปลงทุนในบรูไนมากนัก แต่เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ข้างต้นแล้ว บรูไนอาจเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะพิจารณาใช้โอกาสในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในอีก 2 ปีข้างหน้าเพื่อเปิดตลาดการค้าการลงทุนกับประเทศบรูไนก็เป็นได้ ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com ดาวโหลดเอกสาร  ...