AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

ประชุมสุดยอดอาเซียน

ประชุมสุดยอดอาเซียน

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

การประชุมผู้นํา 10 ชาติสมาชิกอาเซียนหรือเรียกเป็นทางการว่า “ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน” หรือ ASEAN SUMMIT จัดขึ้นโดยสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรืออาเซียน (ASEAN) ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพรวมถึงความมั่นคงปลอดภัยทางการเมือง เศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม การกินดีอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน

การประชุมสุดยอดอาเซียนหรือ ASEAN SUMMIT ครั้งแรกจัดขึ้นที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ. 2519 หลังจากนั้นก็มีการจัดประชุมเรื่อยมาโดยต่างหมุนเวียนกันเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดการประชุม จนถึงปัจจุบันการประชุมสุดยอดอาเซียนได้เดินทางมาถึงครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา การประชุมครั้งนี้จัดขึ้น ณ กรุงบันดาร์ เสรี เบการ์วัน ประเทศบรูไน โดยประเด็นสำคัญในการหารือครั้งนี้เน้นไปที่ความพยายามในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นความพยายามสานต่อเพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันถึงบทบาทของ ASEAN กับจีนกรณีพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ที่เชื่อกันว่าอุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซ ทั้งยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากจีนอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ ขณะที่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไนรวมทั้งไต้หวันต่างอ้างสิทธิเหนือพื้นที่บางส่วนในทะเลจีนใต้เช่นกัน ซึ่งภายหลังการประชุมที่ใช้เวลา 2 วันสิ้นสุดลงได้ข้อสรุปว่าผู้นำชาติอาเซียนต้องการเร่งจัดทำหลักปฏิบัติ หรือ Code of Conduct แก่จีนเพื่อที่จะลดความตึงเครียดในน่านน้ำที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์นี้

นอกจากประเด็นเรื่องการอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้แล้ว ผู้นำอาเซียนยังได้หารือถึงความตึงเครียดบริเวณคาบสมุทรเกาหลี โดยกลุ่มผู้นำอาเซียนต่างเดินหน้าสนับสนุนเพื่อเรียกร้องให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งประธานในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ได้แถลงข้อเรียกร้องของอาเซียนที่ต้องการให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามพันธกรณีของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเต็มรูปแบบและเรียกร้องคำมั่นสัญญาที่เกาหลีเหนือได้ให้ไว้ในการเจรจา 6 ฝ่ายเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 นอกจากนี้บรรดาผู้นำอาเซียนได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะรักษาเอเชียใต้ให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธอื่นๆ ที่มีกำลังทำลายล้างสูงอีกด้วย

แม้ว่าในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ผ่านไปจะยังไม่ได้เห็นบทสรุปที่เป็นรูปธรรมมากนัก รวมไปถึงการที่มีนักวิเคราะห์มองว่าข้อเรียกร้องของอาเซียนต่อจีนที่จะให้จีนเห็นชอบกับหลักปฏิบัติทางทะเลที่มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือ Code of Conduct นั้นอาจไม่สัมฤทธิ์ผล เนื่องจากในอดีตอาเซียนและจีนได้เคยเห็นพ้องกันในการจัดทำหลักปฏิบัติเมื่อปี 2545 แต่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจีนได้ปฏิเสธที่จะหารือถึงการจัดทำหลักปฏิบัติใดๆ อีก ถึงกระนั้นก็ตามการประชุมในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จในแง่ของความเป็นเอกภาพในทางความคิดของผู้นำอาเซียนที่จะรักษาสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคไม่ให้เกิดการนองเลือดทั้งกับกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้กับข้อพิพาทระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ สันติภาพดังกล่าวจะนำไปสู่ความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในชาติ ซึ่งเมื่อถึงปี ค.ศ. 2015 อยากให้ประชากรในอาเซียนกว่า 600 ล้านคนมีความรู้สึกว่าต่างเป็นพี่น้องและเป็นครอบครัวเดียวกันในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


nine + = 16