AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

กัมพูชาค่าแรงต่ำ

กัมพูชาค่าแรงต่ำ

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

กัมพูชา มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ราชอาณาจักรกัมพูชา” (The Kingdom of Cambodia) หรือชื่อที่คนไทยมักจะเรียกกันติดปากว่าเขมร กัมพูชานั้นเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรหมแดนติดต่อกับประเทศไทยทั้งทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ มีเมืองหลวงชื่อกรุงพนมเปญ มีประชากรเฉลี่ย 14.8 ล้านคน กัมพูชาเข้าร่วมกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN : The Association of South East Asian Nations) เป็นลำดับสุดท้ายใน ปี พ.ศ. 2542 ในการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในระยะเวลาอันใกล้จะถึงนี้นั้น ในคอลัมน์ฉบับนี้จะขอนำผู้อ่านไปทำความรู้จักแง่มุมต่างๆของประเทศกัมพูชาไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อนจุดแข็งของประเทศ รวมทั้งโอกาสและช่องทางการทำธุรกิจกับกัมพูชาสำหรับนักลงทุนชาวไทย

หลังจากที่ประเทศกัมพูชาถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2496 ประเทศนี้เผชิญกับสงครามกลางเมืองโดยมีการแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝั่งรัฐบาลและฝ่ายสังคมนิยม หลังสงครามกลางเมืองนานหลายทศวรรษ สงครามการเมืองจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสังคมนิยมซ้ายจัดหรือเขมรแดง จากนั้นกัมพูชาได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์ กล่าวคือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6.0% เป็นเวลานาน 10 ปี ภาคสิ่งทอ เกษตรกรรม ก่อสร้าง เสื้อผ้าและการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งได้นำไปสู่การลงทุนจากต่างชาติและการค้าระหว่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 มีการค้นพบแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติใต้น่านน้ำอาณาเขตของกัมพูชา เป็นที่เชื่อกันว่าเมื่อมีการสำรวจและขุดเจาะภายในปี พ.ศ. 2556 นี้ จะพบน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก นอกจากการลงทุนของต่างชาติแล้วการท่องเที่ยวก็ยังเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้กัมพูชาอย่างมาก เนื่องจากกัมพูชาถือเป็นเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย ในทุกๆวันจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปชื่นชมความงามของอารยะธรรมขอมโบราณและความงามทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลือในสถานที่สำคัญต่างๆ อาทิ นครวัด นครธม และปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชาจำนวนมาก

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กัมพูชามีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นก็เนื่องจากอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำที่สุดในประเทศอาเซียน คิดแล้วตกอยู่ที่ 61 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 1,830 บาทต่อเดือนเท่านั้น จึงทำให้ได้รับความนิยมจากนักลงทุนชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นนักลงทุนชาวต่างชาติยังได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐบาลกัมพูชาผ่านมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้โดยเสรีไม่มีข้อจำกัด นักลงทุนสามารถกำหนดราคาสินค้าเพื่อส่งออกได้ ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจในกัมพูชาได้ 100% และสามารถซื้อทรัพย์สินทุกประเภทได้ยกเว้นที่ดิน แต่ทว่าชาวต่างชาติก็ยังมีสิทธิเช่าที่ดินทำกินระยะยาวถึง 99 ปี หลังจากนั้นสามารถต่อสัญญาได้ และในกรณีที่แรงงานภายในประเทศนั้นไม่พอ นักลงทุนสามารถนำแรงงานต่างชาติเข้ามาเพิ่มได้ โดยรัฐบาลได้ออกกฎหมายรองรับการอนุญาตแรงงานต่างชาติอีกด้วย นอกจากนั้นการทำธุรกรรมต่างๆ สามารถใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แทนเงินเรียลของกัมพูชาได้โดยสะดวก เพราะนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่กว่า 60% ของธุรกิจทั้งหมดในกัมพูชาจะเป็นของคนต่างชาติ

อย่างไรก็ตามกัมพูชาเองนั้นยังมีสาธารณูปโภคพื้นฐานในระดับที่ต่ำ การพัฒนาในเรื่องนี้ยังต่ำ รัฐบาลก่อสร้างได้น้อย และแม้แรงงานจะมีราคาถูกตามที่ได้เสนอไปในข้างต้นแต่ทว่าแรงงานที่ทักษะนั้นกลับมีค่อนข้างน้อย รัฐบาลกัมพูชาจึงพยายามสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติให้เข้าประกอบกิจการในประเทศเพื่ออาศัยเงินลงทุนเป็นรายได้เข้าประเทศ กับเพื่อไปจัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและพัฒนาจำนวนแรงงานที่มีทักษะต่อไป จุดอ่อนอีกประการของกัมพูชาคือการที่มีภูมิประเทศเพาะปลูกทำการเกษตรได้น้อย แต่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 % ทุกปี ทำให้ต้องนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคต่างๆจากต่างประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

แม้รัฐบาลกัมพูชาจะสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ แต่ยังคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักธุรกิจจากไทยจะเข้าไปลงทุนในกัมพูชา เพราะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลระหว่างไทยและกัมพูชานั้นในปัจจุบันไม่ค่อยจะราบรื่นนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีพิพาทเรื่องแย่งชิงพื้นที่ทับซ้อนในเขาพระวิหาร ซึ่งล่าสุดได้มีการฟ้องร้องต่อศาลโลกและในปัจจุบันยังรอฟังคำวินิจชี้ขาดอยู่ จึงมีผู้เกรงว่าความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาในประเด็นดังกล่าวอาจบั่นทอนโอกาสขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศในอนาคตได้ แต่ถ้าหากรัฐบาลทั้งสองประเทศตกลงกันระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อไทยหลายประการ อนึ่งไทยสามารถที่จะส่งออกสินค้าเกษตรอุปโภคซึ่งไทยผลิตได้มากไปยังกัมพูชา ซึ่งการขนส่งทำได้ง่ายกว่าชาติอื่นเพราะพรหมแดนติดกันและคนกัมพูชายังนิยมสินค้าจากไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเข้าไปลงทุนในกัมพูชาที่มีค่าแรงงานถูกน่าจะคุ้มค่าต่อนักลงทุนไทย ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้นไทยและกัมพูชามีโอกาสที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันโดยอาศัยพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นประโยชน์ จะสามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามโอกาสของนักลงทุนไทยในกัมพูชายังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองของทั้งสองประเทศเป็นหลัก

ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

ดาวโหลดเอกสาร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


nine × = 36