AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

การลงทุนในเวียดนาม

การลงทุนในเวียดนาม

 ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

ประเทศเวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมาก เศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาที่ดีขึ้นและยังปรับตัวในทิศทางที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจโลก

รัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบายสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยการให้ สิทธิประโยชน์ หลายประการแก่นักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ การที่เวียดนามเข้ามาเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) เมื่อปี 2550 ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องเร่งเปิดเสรีการลงทุนให้เป็นไปตามเกณฑ์ของ WTO ยิ่งส่งผลให้เวียดนามน่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยมากขึ้น

แม้ว่าประเทศเวียดนามจะมีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม แต่ก็เปิดกว้างด้านนโยบายการลงทุน ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศใช้ กฎหมายการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Law on Foreign Direct Investment) ตั้งแต่ปี 2530 เพื่อเป็นการรับประกันว่าจะมีการปฏิบัติและให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุนต่างชาติ

อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า เวียดนามมีนโยบายที่สนับสนุนการลงทุนโดยนักลงทุนจากต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรงด้านการลงทุนของต่างชาติในเวียดนาม คือ กระทรวงวางแผนและการลงทุน หรือ Ministry of Planning and Investment (MPI) ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการวางแผนนโยบายและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนให้กับชาวเวียดนามและชาวต่างชาติ

นอกจากนี้แล้ว กระทรวงดังกล่าวยังมีหน้าที่กำกับดูแลให้ความช่วยเหลือในด้านข้อมูลและส่งเสริมการลงทุนในเวียดนาม รวมไปถึงการพิจารณาและอนุมัติการลงทุนในโครงการต่าง ๆ การเปิดกว้างด้านนโยบายการลงทุน เป็นการกระตุ้นให้มีการลงทุนและเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2553 อัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ที่ร้อยละ 6.78 และในปี 2554 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้นจากปี 2553 อีกร้อยละ 5.89

จึงเห็นได้ว่าเวียดนามมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ หากเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ด้วยกัน

การลงทุนในเวียดนามนั้นมีข้อดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมืองของเวียดนามที่มีเสถียรภาพสูง ไม่ค่อยมีปัญหานัก ทำให้บรรยากาศการลงทุนไม่น่าโดนปัจจัยความมั่นคงทางการเมืองรบกวน

ทั้งยังมีนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนที่โดดเด่นในการให้สิทธิประโยชน์แก่

นักลงทุนมาก เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ในกรณีที่เป็นการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกภายในเวลาไม่เกิน 270 วัน นับแต่วันที่นำเข้าวัตถุดิบ การให้สิทธิ์ในการส่งผลกำไรกลับประเทศได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องเสียภาษีจากผลกำไรที่โอนกลับประเทศนั้น การคิดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างชาติ สำหรับธุรกิจทั่วไปในอัตราเดียวกันกับนิติบุคคลเวียดนาม ที่อัตราร้อยละ 25 และสิทธิประโยชน์พิเศษอื่น ๆ หากมีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติสูง มีทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงสร้างประชากรเวียดนามในปัจจุบันนั้น พบว่าร้อยละ 50 ของชาวเวียดนามเป็นประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี อัตราการรู้หนังสือ (Literacy Rate) ก็อยู่ในระดับสูงคือร้อยละ 94 สำหรับค่าแรงของแรงงานเวียดนามก็ถูกกว่าอินโดนีเซีย จีน และไทยค่อนข้างมาก

โดยถูกกว่าค่าแรงในอินโดนีเซียกับจีนประมาณร้อยละ 30-40 และถูกกว่าไทยร้อยละ 60 แม้ค่าแรงของชาวเวียดนามในปีนี้มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นราวร้อยละ 25-30 เพื่อจูงใจให้ชาวเวียดนามมาเป็นแรงงานกันมากขึ้น จากเดิมค่าแรงที่ต่ำจนไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน และเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การปรับขึ้นแรงงานขั้นต่ำดังกล่าว ก็ยังถือว่าเป็นค่าแรงที่ถูกกว่าของไทย

แรงงานเวียดนามยังได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนต่างชาติ ว่ามีฝีมือดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา และพม่า ด้านผู้บริโภคชาวเวียดนามก็มีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับผู้บริโภคชาวไทย อีกทั้งจากการที่เวียดนามมีประชากรมากถึง 90 ล้านคน ทำให้ตลาดเวียดนามถือเป็นตลาดที่ใหญ่และมีโอกาสในการลงทุนสูง

ด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้น แม้ว่าถนนหนทางจะยังไม่พร้อมเท่าของไทย แต่ขณะนี้เวียดนามกำลังเตรียมปรับปรุงและก่อสร้างสนามบินจำนวน 26 แห่งทั่วประเทศ ทั้งยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งได้ลงนามความตกลงกับญี่ปุ่นให้เข้ามาช่วยเหลือและถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟฟ้าชินคันเซ็นให้ โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างใน ค.ศ. 2015

อย่างไรก็ดี ประเทศเวียดนามยังต้องมีการปรับปรุงเรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่ยังไม่ทันสมัยเพียงพอ ตลอดจนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์อยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งสาธารณูปโภคที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางบกที่มีต้นทุนสูง ปัญหาเรื่องไฟฟ้าที่ในบางพื้นที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เกิดเหตุไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง

นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นประเทศหนึ่งที่มักประสบกับปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะพายุและอุทกภัยบ่อย ๆ

นักลงทุนจึงต้องพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียในประเด็นต่าง ๆ ให้รอบคอบและถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุน

ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

ดาวโหลดเอกสาร

 

 

 

 

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


eight − 7 =