AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

กองทุน AIF

กองทุน AIF

 

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.

Nakrit Sawettanan ACIArb

ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

แม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจยังถือได้ว่าล้าหลังหากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะเมื่อวัดด้วยอัตราส่วนของจำนวนทางหลวง ทางรถไฟและการเข้าถึงไฟฟ้าต่อประชากรแต่ละคน ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนหรือ ASEAN Finance Ministers จึงมีแนวคิดร่วมกันให้มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน” (ASEAN Infrastructure Fund) หรือเรียกโดยย่อว่า “กองทุน AIF” ขึ้น

การจัดตั้งกองทุน AIF เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือทางการเงินของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคโดยมีวัตถุประสงค์ในการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภายในและระหว่างพรมแดนของประเทศสมาชิกอาเซียนกับทั้งส่งเสริมการนำเงินออมภายในภูมิภาคอาเซียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

กองทุน AIF มีสถานะทางกฎหมายเป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศมาเลเซียซึ่งก็เป็นชาติที่ลงเงินทุนเบื้องต้นสูงที่สุดคือ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กองทุน AIF มีอำนาจในการทำสัญญาและดำเนินการต่างๆ ในนามของตนเอง มีทุนเริ่มต้นทั้งหมด 485.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นเงินร่วมลงทุนที่มาจากประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวน 335.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยกเว้นประเทศพม่าซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมในกองทุนนี้ และมาจากธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ Asian Development Bank: ADB จำนวน 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ADB นอกจากจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกองทุนนี้แล้วยังทำหน้าที่เป็นผู้บริหารกองทุนและเป็นผู้ให้ความมั่นใจว่าการลงทุนทั้งหลายของกองทุน AIF นี้จะดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผลในทางการเงินด้วย

สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนการลงเงินทุนจัดตั้ง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 450 ล้านบาทและมีสิทธิในการออกเสียงร้อยละ 3.09 การชำระเงินเข้ากองทุน AIF จะแบ่งออกเป็น 3 งวดเท่าๆ กันซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องชำระเงินงวดแรกภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 งวดที่เหลือจะต้องชำระเมื่อครบรอบของแต่ละปีของการชำระเงินงวดแรก

เป้าหมายของกองทุนคือการให้การสนับสนุนเงินกู้กับโครงการต่างๆ ประมาณ 6 โครงการต่อปี ในแต่ละโครงการมีเพดานการกู้ยืม (Project Limit) ไม่เกิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โครงการที่จะได้รับเงินทุนจากกองทุน AIF นอกจากจะต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วยังต้องเป็นโครงการที่สามารถลดความยากไร้ ส่งเสริมการค้า และกระตุ้นการลงทุนได้ และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับกองทุน ในช่วง 3 ปีแรกของการดำเนินการ กองทุน AIF จะให้เงินกู้เฉพาะโครงการที่เป็นของภาครัฐหรือโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น เมื่อกองทุนได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ตามเป้าหมายที่ระดับ AA แล้ว กองทุนจึงจะพิจารณาโครงการของภาคเอกชน (Private Sector Development) ต่อไป โดยภายในปี ค.ศ. 2020 กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งความหวังว่าโครงการนี้จะสามารถปล่อยเงินกู้ได้เพิ่มขึ้นในระดับ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีมูลค่าทางการเงินด้านต่างๆ รวมทั้งหมดสูงกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์

กองทุน AIF ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศสมาชิกได้ร่วมลงทุนจัดตั้งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงทั้งในด้านการซื้อขาย การขนส่งสินค้า การค้าบริการและการลงทุนภายในภูมิภาค กับทั้งกองทุน AIF ยังจะเป็นส่วนสำคัญในการลดช่องว่างของพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียนอันเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของแผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วยเพราะปัจจัยหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศประสบความสำเร็จได้ก็คือการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมเพียงพอนั่นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


× one = 5