AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

ปรับปรุงท่าอากาศยานรับ AEC

ปรับปรุงท่าอากาศยานรับ AEC

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและการที่ประชากรในเอเชียมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการคมนาคมทางอากาศมากขึ้นและอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้บริษัทแอร์บัส (Airbus S.A.S) บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกคาดการณ์ไว้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าปริมาณเครื่องบินพาณิชย์ในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,400 ลำ จากปัจจุบันในเอเชียมีเครื่องบินพาณิชย์ประมาณ 4,300 ลำ สำหรับในภูมิภาคอาเซียนนั้นอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศก็เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สังเกตได้จากการเกิดของสายการบินราคาประหยัด (Low – Cost Airlines) ที่เกิดขึ้นหลายรายในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็น Nok Air, Air Asia, Jetstar, Tiger Airways เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเสนอนโยบายการเปิดเสรีทางการบินภายในภูมิภาคอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2552 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 ยิ่งมีส่วนกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศเติบโตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการเปิดเสรีทางการบินนี้ช่วยลดข้อจำกัดในการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมไปถึงการลดข้อจำกัดด้านความจุและความถี่ของเที่ยวบินระหว่างประเทศอีกด้วย

จากการเติบโตของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศในอาเซียนดังกล่าวทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศต้องทำการปรับปรุงและขยายท่าอากาศยาน รวมทั้งเตรียมพร้อมในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงรันเวย์และการสร้างท่าอากาศยานเพิ่มเพื่อรองรับนักเดินทางและการขนส่งทางอากาศอื่นๆ เช่นในประเทศสิงคโปร์มีโครงการปรับปรุงท่าอากาศยานสิงคโปร์ชางงี (Changi Airport) โดยมีแผนการสร้างอาคาร Terminal 4 เพิ่ม รวมไปถึงการขยายอาคาร Terminal 1 ของสนามบิน เพื่อรองรับผู้โดยสาร ซึ่งปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมามีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยานชางงีกว่า 51.2 ล้านราย เป็นต้น

ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีโครงการปรับปรุงท่าอากาศยานอยู่หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาความแออัด สนามบินไม่พอรองรับผู้โดยสาร ทั้งนี้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ได้เปิดเผยแล้วว่ามีแผนการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ซึ่งหากดำเนินการขยายเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 ล้านคน โครงการขยายท่าอากาศยานฯ ระยะที่ 2 คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ ทอท. ยังมีแผนที่จะขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในระยะที่ 3 ต่อไป เนื่องจากคาดว่าในปี พ.ศ. 2560 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 60 ล้านคน ซึ่งจะเท่ากับจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานจะรองรับได้หลังจากการขยายระยะที่ 2 จึงต้องเร่งสร้างโครงการระยะที่ 3 ให้เร็วขึ้น เพื่อมิให้ประสบปัญหาความแออัดตั้งแต่เริ่มเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ด้านท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจนทะลุ 5.1 ล้านคน ก็เตรียมที่จะปรับปรุงท่าอากาศยานเช่นกัน โดยท่าอากาศยานเชียงใหม่จะเน้นไปที่การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคารผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นบริการ Wi-Fi มุมสำหรับเด็กและมุมอ่านหนังสือเพื่อให้ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการจัดพื้นที่แสดงสินค้า OTOP และจัดการแสดงพื้นเมืองภายในท่าอากาศยานเพื่อเผยแพร่และส่งเสริมวัฒนธรรมไทยให้แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย นอกจากนี้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ยังมีนโยบายการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยพร้อมจะสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ให้เป็น Green Airport อีกด้วย

ส่วนจังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชาและมีนโยบายที่จะพัฒนาจังหวัดให้เป็นประตูอีสานสู่สากล เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชาและสามารถเดินทางต่อไปถึงประเทศเวียดนามได้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์จึงมีแผนที่จะปรับปรุงสนามบินสุรินทร์ภักดี สนามบินเก่าของจังหวัดที่ปัจจุบันไม่ได้เปิดใช้เชิงพาณิชย์ ให้กลายเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ เพื่อเปิดเส้นทางคมนาคมทางอากาศ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การลงทุน จังหวัดสุรินทร์ถือเป็นประตูสู่อาเซียนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการบินของภาคอีสานตอนใต้ รองรับผู้โดยสารและการขนส่งทางอากาศในแถบอีสาน กัมพูชา และเวียดนาม อันเป็นการเพิ่มทางเลือกในการคมนาคมและขนส่งระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้อีกด้วย
การปรับปรุงท่าอากาศยานต่างๆ ของไทยนี้จะช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะปรับปรุงท่าอากาศยานต่างๆ ให้ทันสมัย สะดวกสบาย พร้อมรับผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้บริการมากขึ้นเมื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2558 นั่นเอง

ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

ดาวโหลดเอกสาร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


− five = 3