AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

โรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในพม่า

โรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในพม่า

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

การที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC กำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทุกประเทศสมาชิกต่างเร่งเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศของตนสามารถแข่งขันกับประเทศสมาชิกอื่นได้มากที่สุด แต่ละประเทศพยายามหาจุดเด่นเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศตน ซึ่งในครั้งที่แล้วเราได้พูดถึงการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานของประเทศไทยไปแล้ว ในคอลัมน์นี้จะขอพูดถึงการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานในประเทศพม่ากันบ้าง

ตั้งแต่เปิดประเทศ พม่ากลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติรวมถึงนักลงทุนไทย โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ พม่าถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางแหล่งพลังงานมาก ดังจะเห็นได้จากการที่พม่ามีก๊าซธรรมชาติสำรองจำนวนมาก สามารถจำหน่ายให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 7.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของพม่ายังมีความสดใหม่อยู่มากและยังไม่ถูกค้นพบกับขุดเจาะอย่างจริงจัง ทำให้นักลงทุนต่างชาติอยากเข้ามาครอบครองแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พม่ามีอยู่นี้

อย่างไรก็ตามศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของพม่านั้นยังค่อนข้างจำกัด พม่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 3,361 เมกะวัตต์ต่อปี แหล่งพลังงานไฟฟ้าในพม่าร้อยละ 70 มาจากพลังน้ำ ร้อยละ 30 มาจากพลังลม ส่วนที่เหลือมาจากถ่านหิน ทั้งนี้ได้มีรายงานจาก The New Energy Architecture ซึ่งเป็นรายงานวิเคราะห์ประเด็นความท้าทายในภาคพลังงานของพม่าระบุว่า ประชากรเกือบสามในสี่ของประเทศหรือประมาณ 60 ล้านคนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ประชากรในพื้นที่ชนบทที่มีอยู่ถึงร้อยละ 70 นั้นมีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น

ที่เข้าถึงไฟฟ้าได้ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข งานและการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นก่อนการเริ่มต้นของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พม่าจึงต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพของระบบการผลิตไฟฟ้าเป็นการเร่งด่วนเพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น

จากรายงานข่าวล่าสุด รัฐบาลพม่าประกาศแผนว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศซึ่งจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีมูลค่า 8,200 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 210 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุน 275 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,250 ล้านบาท บนเนื้อที่ 2,000 ไร่ ที่จังหวัดมินบู (Minbu) เขตเมเกว (Magway) นครหลวงเนย์ปิดอว์ (Naypyidaw) โดยมีบริษัท กรีน เอิร์ธ พาวเวอร์ จำกัด จากไทย เป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง

โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 18 เดือน แบ่งเป็น 3 เฟส เฟสแรกกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ เฟสที่สองกำลังผลิต 70 เมกะวัตต์ ส่วนเฟสที่สามจะทำหน้าที่เข้ามาเสริมกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของพม่าให้มั่นคงมากขึ้น ซึ่งพม่าวางเป้าหมายว่าภายในปี พ.ศ. 2573 จะต้องมีกำลังผลิตรวม 30,000 เมกะวัตต์ และมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนร้อยละ 10 ด้วย

ทั้งนี้ปัจจัยผกผันที่อาจจะทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่ราบรื่นนั้นอาจจะเกิดจากรัฐบาลพม่า เพราะแม้จะเปิดประเทศแล้ว แต่รัฐบาลทหารยังคงยึดครองอำนาจอยู่ ซึ่งวิธีการบริหารงานยังมีลักษณะเผด็จการ ดังนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งกะทันหันเป็นเหตุให้โครงการนี้ไม่สำเร็จแบบโรงไฟฟ้าที่ทวายหรือโครงการอื่น ๆ ที่รัฐบาลระงับคำสั่งก็เป็นไปได้ หากรัฐบาลพม่ามองว่าเป็นปัญหา

จากนี้เราคงต้องตามข่าวโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพม่ากันอย่างใกล้ชิดว่าจะทำสำเร็จลุล่วงทันการเปิด AEC หรือไม่ ซึ่งหากทำสำเร็จด้วยเทคโนโลยีที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูงก็จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศพม่าให้ขึ้นมาอยู่แถวหน้าของภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแน่นอน และนักลงทุนจำนวนมากย่อมจะให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานของประเทศพม่ามากยิ่งขึ้น

ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

ดาวโหลดเอกสาร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


four × = 28