AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

กลยุทธ์การลงทุน (1)

กลยุทธ์การลงทุน (1)

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าจะก่อให้เกิดตลาดลงทุนแห่งใหม่ของโลก ด้วยความสดใหม่ของทรัพยากรในอาเซียน ความมีเสรีภาพในการลงทุน ตลาดแรงงานที่ราคาไม่สูงนัก น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่จะจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาแสวงหาโอกาสในภูมิภาคอาเซียนกันมากขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างรอเปิด AEC นั้นประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศต่างพยายามวางกลยุทธ์ต่างๆ ให้ตนมีความพร้อมแข่งขันและจูงใจนักลงทุนมากที่สุด ในคอลัมน์นี้จะขอนำเสนอถึงแผนนโยบายสนับสนุนการลงทุนเบื้องต้นของสมาชิกเพื่อนบ้าน AEC ทั้ง 9 ประเทศให้นักลงทุนไทยได้รับทราบเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขัน รวมถึงมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนใน 9 ประเทศเมื่อ AEC เปิดแล้ว

เริ่มต้นที่รัฐบาลบรูไนที่ได้ให้การสนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนมากขึ้น โดยอนุญาตให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเกือบทุกสาขาธุรกิจและอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% ทุกสาขา ยกเว้นแต่เพียงอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศและที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารของประเทศเท่านั้นที่ยังคงต้องมีผู้ถือหุ้นในประเทศอย่างน้อย 30% ร่วมด้วย นอกจากนี้รัฐบาลบรูไนยังให้ความสำคัญมากกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะการลงทุนเกี่ยวกับการผลิตปิโตรเคมีขั้นสุดท้ายและอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้พลังงานของบรูไน

รัฐบาลกัมพูชาได้ออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนที่จะให้สิทธิประโยชน์และความมั่นใจแก่ นักลงทุนที่จะถือครองสิทธิในทรัพย์สินต่างๆ (ยกเว้นกรรมสิทธิ์ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผู้ถือครองได้ต้องเป็นบุคคลสัญชาติกัมพูชาเท่านั้น ต่างด้าวสามารถใช้สิทธิได้ด้วยการเช่าหรือสัมปทาน) และรัฐบาลให้หลักประกันแก่นักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนว่า จะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับคนในชาติและจะไม่ถูกบังคับจากนโยบายกำหนดราคาสินค้าและบริการหากมีการใช้บังคับในภายหลัง รวมทั้งสามารถซื้อและโอนเงินตราต่างประเทศไม่ว่าจะเพื่อชำระสินค้าหรือจ่ายกำไรตามระบบธนาคาร นอกจากนี้รัฐบาลกัมพูชายังมีนโยบายการค้าเสรี ไม่มีข้อกีดกันทางการค้า มีเพียงข้อห้ามการนำเข้าสินค้าบางประเภทที่กระทบกับความมั่นคง สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

อินโดนีเซีย เมื่อต้นปี พ.ศ. 2555 รัฐบาลได้ออกมาตรการใหม่เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศ โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่นักลงทุนใน 129 สาขาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำให้มีการใช้ทรัพยากรในประเทศเป็นวัตถุดิบและลดการนำเข้าสินค้าบริโภคขั้นสุดท้าย เช่น การเพาะปลูกพืช การทำเหมืองแร่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อิเล็กทรอนิกส์ ยาและอาหาร

มาเลเซีย ภายใต้แผนพัฒนามาเลเซีย ปีพ.ศ. 2551-2563 รัฐบาลมาเลเซียอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ 100% ในสาขาบริการย่อย 27 สาขา ครอบคลุมบริการด้านการท่องเที่ยว สุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศและการขนส่ง รวมถึงการลงทุนในศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค ศูนย์จัดซื้อสินค้าระหว่างประเทศและการทำธุรกิจเหมืองแร่ ขณะเดียวกันยังมีการคลายข้อกำหนดการถือหุ้นของต่างชาติและเงื่อนไขด้านการส่งออกและการลงทุนด้านการผลิตอีกด้วย นอกจากนี้รัฐบาลมาเลเซียยังมีการผ่อนปรนมาตรการทางภาษีให้แก่นักลงทุนจากต่างชาติ โดยจะมีการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลจาก 28% เป็น 27% และจะลดลงเหลือ 26% ในอนาคตอันใกล้ กับทั้งรัฐบาลมาเลเซียยังมีนโยบายที่เตรียมจะยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นักลงทุนต่างชาติอีกในอัตราถึง 70-100% เป็นเวลา 5 ปีอีกด้วย

สำหรับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวนั้น รัฐบาลกำลังต้องการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศอยู่แล้ว โดยตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนของลาว พ.ศ. 2552 นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในธุรกิจประเภทต่างๆ ได้มากมาย ยกเว้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือส่งผลกระทบด้านลบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพหรือขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลลาวได้อนุมัติให้มีการดำเนินโครงการ “Vientiane New World” ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างเขตเมืองใหม่ที่เกาะดอนจัน (Don Chan Island) ริมแม่น้ำโขง ในนครหลวงเวียงจันทน์ โดยรวมเอาสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความทันสมัยต่างๆ และเอื้อต่อการทำธุรกิจรวมไว้ด้วยกัน คาดการณ์ว่าโครงการนี้จะมีส่วนจูงใจนักลงทุนมากขึ้น กับทั้งจะแก้ไขปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวกและที่อยู่อาศัยที่ขาดแคลนในประเทศ นอกจากนั้นโครงการนี้จะก่อให้เกิดธุรกิจประเภทต่างๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกด้วย

จะเห็นได้ว่านโยบายสนับสนุนการลงทุนของทั้ง 5 ประเทศล้วนมีจุดเด่นที่ต่างกันออกไป เหล่านักลงทุนไทยจึงควรศึกษาให้ดีและเลือกรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมต่อการเข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม AEC ยังไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ ดังนั้นนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนของทั้ง 5 ประเทศจึงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมอีกเพื่อให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น สำหรับในครั้งหน้าคอลัมน์ของเราจะนำเสนอแนวนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของอีก 4 ประเทศที่เหลือให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน

ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

ดาวโหลดเอกสาร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


8 × three =