AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

กลยุทธ์การลงทุน (ภาค 2)

กลยุทธ์การลงทุน (ภาค 2)

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

ในคอลัมน์ฉบับที่แล้วเราได้พูดถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ 5 ประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อันได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนิเชีย มาเลเซีย และลาว ไปแล้ว ในคอลัมน์ฉบับนี้จะขอพูดถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ 4 ประเทศสมาชิก AEC กันต่อ

เริ่มต้นที่ประเทศเวียดนาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลเวียดนามได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนให้เกิดความคล่องตัว สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นและปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จากกิจการร่วมทุนมาเป็นกิจการที่ลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดมากขึ้น โดยภาคธุรกิจที่รัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุน ได้แก่ การท่องเที่ยว การขนส่งโลจิสติกส์ การบริการท่าเรือ ภาคการเกษตร รวมถึงสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้เวียดนามยังเตรียมปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรมเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC อีกด้วย

รัฐบาลพม่าสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศโดยรัฐบาลพม่าจะเป็นผู้พิจารณาโครงการลงทุนในเบื้องต้น ซึ่งรูปแบบการลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล มี 2 รูปแบบ คือ 1.การลงทุนที่ชาวต่างชาติถือทั้งหมดในบริษัท 2.การร่วมทุนซึ่งแบ่งเป็นการร่วมทุนกับรัฐบาลพม่าโดยนักลงทุนต่างชาติสามารถเจรจาขอร่วมลงทุนได้มากกว่า 35% ของมูลค่าเงินลงทุนรวม และการร่วมทุนกับเอกชนพม่าซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้ในสัดส่วนน้อยกว่า 35% ของกิจการดังกล่าว นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในลักษณะที่เป็น BOT (Build Operate and Transfer) ในธุรกิจ ประเภทโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ส่วนการลงทุนที่เป็น PSC (Product Sharing Contract) อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเฉพาะด้านการสำรวจและขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ประโยชน์เท่านั้น นอกจากนั้นพม่ายังได้ปรับระบบการเงินของประเทศใหม่โดยเริ่มจากการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอัตราลอยตัวแบบมีการจัดการ และการเร่งปรับปรุงระบบการชำระเงินของประเทศให้มีความเป็นสากลยิ่งขึ้น

รัฐบาลฟิลิปปินส์มีการออกกฎหมาย Foreign Investment Act 1991 เพื่อชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ตามกฎหมายฉบับดังกล่าวนักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกิจการโดยไม่ต้องมีคนท้องถิ่นร่วมทุนในหลากหลายประเภทธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น การก่อสร้าง รถไฟฟ้า ท่าอากาศยาน และพลังงาน เป็นต้น อนึ่งรัฐบาลของฟิลิปปินส์ยังได้กำหนดนโยบายเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนโดยการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนการดำเนินธุรกิจของคนต่างด้าวให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากนั้นฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นการอุปโภคบริโภคสินค้าต่างๆภายในประเทศจึงค่อนข้างสูง หากต่างชาติต้องการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในฟิลิปปินส์จึงมีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เนื่องจากมีตลาดขนาดใหญ่

ในขณะที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียนมีนโยบายที่ให้ความเท่าเทียมกันระหว่างนักลงทุนในประเทศกับนักลงทุนต่างประเทศ กฎหมายการลงทุนของสิงคโปร์จึงเอื้อประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก ไม่มีการกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำและให้สิทธิ์ในการที่ชาวต่างชาติจะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รวมถึงไม่มีการควบคุมการโอนเงินตราต่างประเทศ และผลกำไรในการประกอบธุรกิจออกนอกประเทศ และรัฐบาลสิงคโปร์ให้ต่างชาติทำธุรกิจได้ 100 % ในหลายๆประเภท ยกเว้นธุรกิจด้านกฎหมาย การประกอบอาชีพทนายความ กิจการที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้นประเทศสิงคโปร์ยังพยายามผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในด้านต่างๆ อาทิ การเงินการธนาคาร การพาณิชย์ ด้านอวกาศ ด้านแฟชั่น การบัญชี การบินและการขนส่ง เป็นต้น ซึ่งคาดการณ์ว่านโยบายดังกล่าวจะจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนทำกิจการประเภทต่างๆในในสิงคโปร์ได้มากขึ้น

จะเห็นได้ว่า 9 ประเทศสมาชิกเพื่อนบ้าน AEC นั้นต่างพยายามเตรียมความพร้อมกันอย่างสุดความสามารถเพื่อให้ชาติของตนมีความได้เปรียบและพร้อมที่จะแข่งขันเมื่อ AEC เปิด ทั้งนี้ประเทศไทยของเราก็จะต้องเร่งเตรียมความพร้อมไม่ให้น้อยหน้าอีก 9 ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังเหลือเวลาอีกสองปีก่อนที่ AEC จะเริ่มต้น แนวนโยบายส่งเสริมการลงทุนของแต่ละประเทศอาจยังมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีก จึงต้องติดตามรับฟังนโยบายส่งเสริมการลงทุนของแต่ละประเทศสมาชิก AEC กันต่อไป

 ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

ดาวโหลดเอกสาร

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


6 + = nine