AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

นิติบุคคลเฉพาะกิจทวาย

นิติบุคคลเฉพาะกิจทวาย

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

โครงการทวาย (Dawei Development) เป็นโครงการระดับเมกะโปรเจคของพม่าที่รัฐบาลไทยประกาศว่าจะเข้าร่วมลงทุนและพัฒนาโครงการดังกล่าวกับรัฐบาลพม่าและบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ITD ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทยผู้เป็นเจ้าของสัมปทานเดิมที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาพัฒนาโครงการนี้ โดยได้เข้าไปพัฒนาโครงการในนามบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัท ทวาย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (Dawei Development Company Limited: DDC) ภายใต้ขอบข่ายความตกลงระหว่างบริษัท ITD และการท่าเรือแห่งสหภาพพม่าในปี 2553 การเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการทวายของรัฐบาลไทยจากการที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าได้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าเป็นการยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงการทวายให้กลายเป็นความร่วมมือระดับรัฐต่อรัฐ (G2G) การที่รัฐบาลไทยและพม่ามีความพยายามในการชักชวนให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนและพัฒนาโครงการทวายทำให้ต้องมีการปรับรูปแบบการลงทุน การระดมทุน สัญญาสัมปทาน และความตกลงอื่นที่มีขึ้นก่อนหน้านี้ระหว่างรัฐบาลพม่าและบริษัท อิตาเลียนไทยอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้รัฐบาลไทยและพม่าได้มีการหารือระหว่างกันเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนและการระดมทุนในโครงการทวาย โดยในการประชุมร่วมระหว่างคณะทำงานและคณะอนุกรรมการร่วมระดับสูง 6 ชุด ระหว่างไทยและพม่าเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวเนื่อง (JCC) ได้มีการพิจารณารูปแบบการลงทุนและระดมทุน 2 รูปแบบด้วยกัน รูปแบบแรกคือการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ขึ้นมา ซึ่ง SPV นี้จะมีสถานะเป็น Holding Company มีการจัดตั้งนิติบุคคลย่อย (SPCs) เพื่อดำเนินการดูแลแยกย่อยไปในแต่ละส่วน (Sector) โครงการ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา เป็นต้น ทั้งนี้ SPV ซึ่งเป็นบริษัทแม่จะเป็นผู้ครอบครองสัมปทานและสิทธิต่างๆ ส่วนรูปแบบที่สองคือการจัดตั้งนิติบุคคลรายย่อย หรือ SPCs แยกออกไปดูแลแต่ละ Sector โดยมีการทำสัญญา Sectorial Agreement แยกต่างหากสำหรับแต่ละ Sector โดยสัมปทานและสิทธิต่างๆ จะเป็นของแต่ละ SPCs ไม่มีบริษัทแม่เป็นผู้ควบคุมดูแล SPCs ดังเช่นรูปแบบแรก

หลังจากที่ทั้งฝ่ายไทยและพม่าต่างศึกษาถึงรูปแบบการลงทุนและระดมทุนทั้งสองแบบดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีการหารือกันนอกรอบหลายครั้ง ในการประชุม JCC ครั้งที่ผ่านมาที่ประชุม JCC ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการตามรูปแบบแรกคือการตั้ง SPV ขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบการระดมทุนที่สามารถระดมทุนได้ง่ายกว่า โดยการระดมทุนผ่าน SPV รายเดียว ในขณะที่รูปแบบที่ 2 นั้นมีการจัดตั้ง SPCs ออกเป็นหลายบริษัท มีการทำสัญญาหลายฉบับ การระดมทุนก็จะต้องทำแยกต่างหากกัน ทำให้ระดมทุนได้ยุ่งยากกว่ารูปแบบแรก ทั้งนี้เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า Holding Company ที่จะจัดตั้งขึ้นประกอบไปด้วยผู้ถือหุ้นไม่เกิน 4 กลุ่ม ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารัฐบาลไทยและพม่า คือ ผู้ถือหุ้น 2 กลุ่มแรกของโครงการนี้ ส่วนผู้ถือหุ้นกลุ่มที่ 3 นั้นมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องจากการประชุม JCC ครั้งที่ผ่านมามีผู้แทนจากสถานทูตญี่ปุ่นเข้ามาร่วมสังเกตการณ์และยังมีหน่วยงานสำคัญของญี่ปุ่น 2 หน่วยงาน ได้แก่ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) และองค์กรการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เข้าร่วมประชุม สำหรับผู้ถือหุ้นรายที่ 4 นั้นมีรัฐบาลบางประเทศที่เสนอเข้ามาร่วมลงทุนด้วยแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเป็นประเทศใด ทั้งนี้ข้อเสนอและมติที่ประชุมต่างๆ จะถูกนำเสนอคณะกรรมการระดับสูงของทั้งสองประเทศให้พิจารณา และจะมีการลงนามความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศเทศในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

นิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือ Special Purpose Vehicle (SPV) นี้หมายถึง นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง ผู้จัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจจะเป็นใครก็ได้ ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ต้องการก่อตั้งนิติบุคคลเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ SPV นี้จะจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วน บริษัทมหาชน หรือกองทุนก็ได้ โดยการดำเนินงานของ SPV ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างเคร่งครัด SPV นี้นิยมจัดตั้งขึ้นเพื่อระดมทุน ซึ่ง SPV ที่คุ้นเคยกันดี ได้แก่ SPV ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) นั่นเอง

สำหรับบทบาทของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือสัมปทานพัฒนาโครงการทวายเดิมนั้นมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนบทบาทจากเดิมที่มีบทบาทเป็นผู้พัฒนา (Developer) กลายเป็นผู้ลงทุน (Investors) ใน SPCs ต่างๆ ที่จะจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้บทบาทของบริษัท อิตาเลียนไทยจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในการลงนาม MOU ฉบับใหม่ระหว่างรัฐบาลไทยและพม่าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ต่อไป

ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

ดาวโหลดเอกสาร

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


+ three = 7