AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด

เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

การพัฒนาเมืองชายแดนแม่สอดได้รับความสนใจจากทั้งภาครัฐและเอกชนมาหลายปีแล้ว โดยเมื่อปี พ.ศ. 2547 ได้มีการวางแนวทางการพัฒนาไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมอนุมัติงบประมาณสนับสนุน เพื่อการพัฒนาไปสู่ เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรก ของประเทศไทย ด้วยเม็ดเงินหลายพันล้านบาท

แม้จะมีการวางแนวทางการพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แต่ความคืบหน้าก็เป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งตรงข้ามกับเมืองเมียวดีของพม่าที่เปรียบเสมือนเมืองคู่แฝดกับแม่สอด ที่ขณะนี้ถูกยกระดับขึ้นเป็น เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี เพื่อเตรียมพร้อมรับการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดตั้งระเบียบดังกล่าว

พร้อมมีความเห็นชอบให้อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่นำร่องเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่แรก

ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษตามร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หมายถึงพื้นที่พิเศษหรือบางส่วนขององค์กรปกครองส่วน

ท้องถิ่นแห่งหนึ่งหรือบางแห่ง และได้รับการสนับสนุนจากรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการค้าสินค้าและบริการหรือการลงทุน

เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการค้าบริเวณพรมแดนและการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่สอดคล้องกับระบบ ASEAN Single Window และบทนิยามอื่น ๆ

ประโยชน์ของการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็คือจะเป็นพื้นที่มีการผ่อนปรนในเรื่องกฎระเบียบการลงทุน และมีการให้สิทธิพิเศษหลายประการแก่นักลงทุน รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษี

เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอันเป็นไปตามจุดประสงค์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังมีการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูล การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม บริการพื้นฐานต่างๆ ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษได้เพียงหนึ่งวัน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่แม่สอดเพื่อตรวจดูสภาพพื้นที่แม่สอด ตรวจเยี่ยมสภาพสะพานมิตรภาพไทย-พม่า รวมไปถึงฟังบรรยายสรุปเรื่องเขตเศรษฐกิจแม่สอด และสถานการณ์ภาพรวมของสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดตาก ว่าจังหวัดตากมีรายได้เฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้เทศบาลนครแม่สอดยังเสนอให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนด้านการคมนาคม เพิ่มระบบโลจิสติกส์ อุโมงค์รถไฟเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไป ตาก – แม่สอด รวมถึงการที่จังหวัดได้เตรียมพื้นที่กว่า 500 ไร่ เพื่อสร้างศูนย์กระจายสินค้ารองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ทั้งยังเป็นจุดที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศจีนและอินเดียได้ด้วย ซึ่งคณะรัฐบาลแสดงท่าทีที่เห็นด้วยกับการยกระดับแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ

การให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็น AEC นั่นเอง

นอกจากนี้ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และตกลงเลือกให้อำเภอแม่สอดเป็นพื้นที่นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ก็ได้มีตัวแทนคณะรัฐบาลลงพื้นที่อำเภอแม่สอดเพื่อศึกษาเขตจัดตั้งเศรษฐกิจพิเศษอยู่หลายครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นการเยือนแม่สอดของ นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ที่เดินทางมาลงพื้นที่ชายแดนไทย – พม่า ดูการส่งสินค้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า รวมไปถึงบริเวณท่าเรือขนส่งสินค้าริมแม่น้ำเมย อำเภอแม่สอด

เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลอำเภอแม่สอด พร้อมนำข้อมูลเข้าสู่คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารฯ ของสภาผู้แทนราษฎร นำไปศึกษาการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด และดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ เห็นด้วยกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ให้เป็นตัวอย่างของเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่องก่อนที่จะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ในอนาคต

ส่วน นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เพิ่งเดินทางมาตรวจดูสภาพพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

การเดินทางมาเยือนอำเภอแม่สอดของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพื่อติดตามการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดูช่องทางการค้าชายแดน รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อศึกษาถึงศักยภาพและความพร้อมของแม่สอดในการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและประตูสู่อาเซียน พร้อมนำข้อมูลทั้งหมดเสนอให้คณะรัฐมนตรีเร่งออกพระราชกฤษฎีกา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด รวมไปถึงการจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวต่อไป

อำเภอแม่สอด เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นเมืองชายแดนไทย – พม่า ที่การค้าชายแดนเฟื่องฟูมานานหลายปี โดยเฉพาะการค้าผลผลิตทางด้านการเกษตรและการ

บริการ

ทั้งในส่วนการท่องเที่ยวและการขนส่ง “แม่สอด” ถือเป็นเมืองที่สำคัญบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ East – West Corridor ที่จะสามารถเชื่อมเส้นทางการคมนาคมทางบกไประหว่างอินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกได้

การยกระดับ “อำเภอแม่สอด” ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงเป็นโอกาสอันดีของนักลงทุนไทยและนักลงทุนอาเซียน เมื่อมีการเข้าสู่การเป็น AEC ในอนาคต

ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

ดาวโหลดเอกสาร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


three + 1 =