AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

ลงทุนทวาย 3 ชาติ

ลงทุนทวาย 3 ชาติ

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

โครงการทวายเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมาก เนื่องจากโครงการทวาย (Dawei Development) เป็นโครงการที่รัฐบาลพม่าถือว่าเป็นโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ของชาติ จึงมีการออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เพื่อยกระดับ จังหวัดทวาย เป็น เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone) และให้สิทธิประโยชน์หลาย ๆ อย่างแก่นักลงทุน

นอกเหนือจากนี้ ก็เพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในโครงการทวาย อย่างไรก็ดี นักลงทุนรายแรกที่ได้สัมปทานเข้าไปพัฒนาพื้นที่ก็คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (Italian-Thai Development Public Company Limited : ITD) บริษัทสัญชาติไทยนั่นเอง

โดยได้เข้าไปพัฒนาโครงการในนามบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (Dawei Development Company Limited : DDC) ภายใต้ขอบข่ายความตกลงระหว่างบริษัท ITD และการท่าเรือแห่งสหภาพพม่าในปี 2553

เมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมารัฐบาลไทยและพม่าได้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า อันเป็นการยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงการทวาย

จากเดิมที่เป็นการทำสัญญาระหว่างเอกชน อันได้แก่ บริษัท ITD กับรัฐบาลพม่า กลายเป็นความร่วมมือระดับ “รัฐต่อรัฐ” (G to G) แทน ทั้งนี้ บริษัท ITD ยังคงร่วมลงทุนพัฒนาโครงการทวายด้วยเช่นเดิม

แต่มีรัฐบาลไทยเข้ามาให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงด้านเม็ดเงินลงทุน ซึ่งโครงการทวายต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากการพัฒนาในระยะแรกเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่าง ๆ

ซึ่งจากข่าวที่ปรากฏทราบกันดีว่า “ทวายโปรเจ็กต์” หรือโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมีมูลค่า 3 แสนล้านบาท เป็นโครงการลงทุนใหญ่ติดอันดับโลก ทั้งเป็นที่หมายตาของชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจเอเชีย คือ จีน และญี่ปุ่น ที่ต่างต้องการร่วมโครงการ

อย่างไรก็ดี จากการให้สัมภาษณ์ของกรรมการผู้จัดการ บริษัท ITD รูปร่างของการร่วมลงทุนดูจะเห็นชัดมากขึ้น โดยการร่วมลงทุนในทวาย น่าจะเป็นไปในลักษณะ 3 ชาติร่วมกัน ได้แก่ เมียนมาร์ ไทย และญี่ปุ่น นั่นเอง

จากการเยือนประเทศไทยล่าสุดของ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภารกิจสำคัญอันหนึ่งในการเดินทางมาครั้งนี้ คือ ความร่วมมือเร่งรัดผลักดันโครงการทวาย โดยเฉพาะการหาแหล่งเงินลงทุนจากญี่ปุ่นในอัตราเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่านองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า ไม่นับรวมสถาบันการเงินอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้ยกหนี้บางส่วนให้รัฐบาลเมียนมาร์ พร้อมเสนอวงเงินกู้ให้

ขณะที่รัฐบาลเมียนมาร์ให้สิทธิ์ญี่ปุ่นในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือที่ติละวา นิคมอุตสาหกรรมสำคัญตอนใต้กรุงย่างกุ้ง และมีการนำทีมนักธุรกิจญี่ปุ่นลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายด้วย

ญี่ปุ่นให้ความสนใจพื้นที่ทวายเป็นพิเศษสำหรับเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำ เพื่อส่งวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ตั้งฐานผลิตในไทย และนิคมยังเป็นแหล่งที่ตั้งโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ทุนญี่ปุ่นในอนาคตอีกด้วย เหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นความสำคัญยิ่งของโครงการทวายในสายตาญี่ปุ่น

ประกอบกับการหารือระหว่าง นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย และ นายโชสุเกะ โมริ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจคันไซจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมาก โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน รวมไปถึงการลงทุนในโครงการทวายด้วย

คาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดการลงทุนได้ภายในเดือนมีนาคม 2556 ที่จะถึงนี้ นอกจากนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นแล้วยังมีกลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีนที่ให้ความสนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการทวายเช่นกัน

อย่างไรก็ดี มูลค่าการลงทุนที่ฝ่ายญี่ปุ่นเสนอเฉลี่ยสูงกว่ามูลค่าการลงทุนของนักลงทุนจีนถึง 3 เท่า ทำให้รัฐบาลไทยต้องพิจารณาถ่วงดุลการเป็นพันธมิตรกับนักลงทุนทั้ง 2 ประเทศอย่างรอบคอบ

สำหรับรูปแบบการร่วมลงทุนเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนนั้นค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า จะมีการจัดตั้ง นิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ในลักษณะที่เป็น บริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชน ขึ้นในประเทศไทย

ในเบื้องต้นฝ่ายไทยจะถือหุ้นใน SPV ทั้งหมดร้อยละ 50 ในขณะที่หุ้นที่เหลือจะเป็นของประเทศเมียนมาร์ และญี่ปุ่นตามลำดับ โดยส่วนของประเทศญี่ปุ่นนั้นรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ต้องหารือกับทางฝ่ายญี่ปุ่นเกี่ยวกับข้อสรุปสัดส่วนการถือหุ้นใน SPV ให้ชัดเจนอีกทีก่อน

ทั้งนี้ ในส่วนหุ้นของฝ่ายไทยนั้นรัฐบาลจะถือหุ้นร้อยละ 26 จากหุ้นร้อยละ 51 ดังกล่าว ส่วนที่เหลือจะเป็นหุ้นของบริษัท ITD ซึ่งจะถือจำนวนเท่าใดก็ได้ แต่ไม่เกินร้อยละ 25

การตั้ง SPV นี้ต้องใช้เวลาการจัดตั้ง 6-8 เดือนโดยประมาณ เนื่องจากต้องมีการยกร่างกฎหมายจัดตั้งและจัดทำบันทึกข้อตกลงต่าง ๆ โดยเมื่อจัดตั้งแล้ว SPV นี้จะทำหน้าที่เป็น Holding company ที่จะมีนิติบุคคลย่อย ๆ (SPCs) อีก 8 บริษัทด้วยกัน เพื่อลงทุนในแต่ละสาขาโดยเฉพาะ

รายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงทุนในโครงการทวายนี้น่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวเนื่อง (JCC) ครั้งต่อไป ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2556

ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com

ดาวโหลดเอกสาร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


8 × = sixty four