AEC Advisor in Asian Economic Community of ASEAN Countries

นิติบุคคลเฉพาะกิจทวาย

นิติบุคคลเฉพาะกิจทวาย

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม. Nakrit Sawettanan ACIArb ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com โครงการทวาย (Dawei Development) เป็นโครงการระดับเมกะโปรเจคของพม่าที่รัฐบาลไทยประกาศว่าจะเข้าร่วมลงทุนและพัฒนาโครงการดังกล่าวกับรัฐบาลพม่าและบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ITD ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทยผู้เป็นเจ้าของสัมปทานเดิมที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาพัฒนาโครงการนี้ โดยได้เข้าไปพัฒนาโครงการในนามบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัท ทวาย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (Dawei Development Company Limited: DDC) ภายใต้ขอบข่ายความตกลงระหว่างบริษัท ITD และการท่าเรือแห่งสหภาพพม่าในปี 2553 การเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการทวายของรัฐบาลไทยจากการที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าได้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าเป็นการยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงการทวายให้กลายเป็นความร่วมมือระดับรัฐต่อรัฐ (G2G) การที่รัฐบาลไทยและพม่ามีความพยายามในการชักชวนให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนและพัฒนาโครงการทวายทำให้ต้องมีการปรับรูปแบบการลงทุน การระดมทุน สัญญาสัมปทาน และความตกลงอื่นที่มีขึ้นก่อนหน้านี้ระหว่างรัฐบาลพม่าและบริษัท อิตาเลียนไทยอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้รัฐบาลไทยและพม่าได้มีการหารือระหว่างกันเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนและการระดมทุนในโครงการทวาย โดยในการประชุมร่วมระหว่างคณะทำงานและคณะอนุกรรมการร่วมระดับสูง 6 ชุด ระหว่างไทยและพม่าเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวเนื่อง (JCC) ได้มีการพิจารณารูปแบบการลงทุนและระดมทุน 2 รูปแบบด้วยกัน รูปแบบแรกคือการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ขึ้นมา ซึ่ง SPV นี้จะมีสถานะเป็น Holding Company มีการจัดตั้งนิติบุคคลย่อย (SPCs) เพื่อดำเนินการดูแลแยกย่อยไปในแต่ละส่วน (Sector) โครงการ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา เป็นต้น ทั้งนี้ SPV ซึ่งเป็นบริษัทแม่จะเป็นผู้ครอบครองสัมปทานและสิทธิต่างๆ ส่วนรูปแบบที่สองคือการจัดตั้งนิติบุคคลรายย่อย หรือ SPCs แยกออกไปดูแลแต่ละ Sector โดยมีการทำสัญญา Sectorial Agreement แยกต่างหากสำหรับแต่ละ Sector โดยสัมปทานและสิทธิต่างๆ จะเป็นของแต่ละ SPCs ไม่มีบริษัทแม่เป็นผู้ควบคุมดูแล SPCs ดังเช่นรูปแบบแรก หลังจากที่ทั้งฝ่ายไทยและพม่าต่างศึกษาถึงรูปแบบการลงทุนและระดมทุนทั้งสองแบบดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีการหารือกันนอกรอบหลายครั้ง ในการประชุม JCC ครั้งที่ผ่านมาที่ประชุม JCC ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการตามรูปแบบแรกคือการตั้ง SPV ขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบการระดมทุนที่สามารถระดมทุนได้ง่ายกว่า โดยการระดมทุนผ่าน SPV รายเดียว ในขณะที่รูปแบบที่ 2 นั้นมีการจัดตั้ง SPCs ออกเป็นหลายบริษัท มีการทำสัญญาหลายฉบับ การระดมทุนก็จะต้องทำแยกต่างหากกัน ทำให้ระดมทุนได้ยุ่งยากกว่ารูปแบบแรก ทั้งนี้เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า Holding Company ที่จะจัดตั้งขึ้นประกอบไปด้วยผู้ถือหุ้นไม่เกิน 4 กลุ่ม ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารัฐบาลไทยและพม่า คือ ผู้ถือหุ้น 2 กลุ่มแรกของโครงการนี้ ส่วนผู้ถือหุ้นกลุ่มที่ 3 นั้นมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องจากการประชุม JCC ครั้งที่ผ่านมามีผู้แทนจากสถานทูตญี่ปุ่นเข้ามาร่วมสังเกตการณ์และยังมีหน่วยงานสำคัญของญี่ปุ่น 2 หน่วยงาน ได้แก่ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) และองค์กรการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เข้าร่วมประชุม สำหรับผู้ถือหุ้นรายที่ 4 นั้นมีรัฐบาลบางประเทศที่เสนอเข้ามาร่วมลงทุนด้วยแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเป็นประเทศใด ทั้งนี้ข้อเสนอและมติที่ประชุมต่างๆ จะถูกนำเสนอคณะกรรมการระดับสูงของทั้งสองประเทศให้พิจารณา และจะมีการลงนามความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศเทศในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ นิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือ Special Purpose Vehicle (SPV) นี้หมายถึง นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง ผู้จัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจจะเป็นใครก็ได้ ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ต้องการก่อตั้งนิติบุคคลเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ SPV นี้จะจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วน บริษัทมหาชน หรือกองทุนก็ได้ โดยการดำเนินงานของ SPV ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างเคร่งครัด SPV นี้นิยมจัดตั้งขึ้นเพื่อระดมทุน ซึ่ง SPV ที่คุ้นเคยกันดี ได้แก่ SPV ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) นั่นเอง สำหรับบทบาทของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือสัมปทานพัฒนาโครงการทวายเดิมนั้นมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนบทบาทจากเดิมที่มีบทบาทเป็นผู้พัฒนา (Developer) กลายเป็นผู้ลงทุน (Investors) ใน SPCs ต่างๆ ที่จะจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้บทบาทของบริษัท อิตาเลียนไทยจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในการลงนาม MOU ฉบับใหม่ระหว่างรัฐบาลไทยและพม่าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ต่อไป ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com ดาวโหลดเอกสาร...

กลยุทธ์การลงทุน (ภาค 2)

กลยุทธ์การลงทุน (ภาค 2)

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม. Nakrit Sawettanan ACIArb ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com ในคอลัมน์ฉบับที่แล้วเราได้พูดถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ 5 ประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อันได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนิเชีย มาเลเซีย และลาว ไปแล้ว ในคอลัมน์ฉบับนี้จะขอพูดถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ 4 ประเทศสมาชิก AEC กันต่อ เริ่มต้นที่ประเทศเวียดนาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลเวียดนามได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนให้เกิดความคล่องตัว สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นและปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จากกิจการร่วมทุนมาเป็นกิจการที่ลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดมากขึ้น โดยภาคธุรกิจที่รัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุน ได้แก่ การท่องเที่ยว การขนส่งโลจิสติกส์ การบริการท่าเรือ ภาคการเกษตร รวมถึงสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้เวียดนามยังเตรียมปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรมเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC อีกด้วย รัฐบาลพม่าสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศโดยรัฐบาลพม่าจะเป็นผู้พิจารณาโครงการลงทุนในเบื้องต้น ซึ่งรูปแบบการลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล มี 2 รูปแบบ คือ 1.การลงทุนที่ชาวต่างชาติถือทั้งหมดในบริษัท 2.การร่วมทุนซึ่งแบ่งเป็นการร่วมทุนกับรัฐบาลพม่าโดยนักลงทุนต่างชาติสามารถเจรจาขอร่วมลงทุนได้มากกว่า 35% ของมูลค่าเงินลงทุนรวม และการร่วมทุนกับเอกชนพม่าซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้ในสัดส่วนน้อยกว่า 35% ของกิจการดังกล่าว นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในลักษณะที่เป็น BOT (Build Operate and Transfer) ในธุรกิจ ประเภทโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ส่วนการลงทุนที่เป็น PSC (Product Sharing Contract) อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเฉพาะด้านการสำรวจและขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ประโยชน์เท่านั้น นอกจากนั้นพม่ายังได้ปรับระบบการเงินของประเทศใหม่โดยเริ่มจากการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอัตราลอยตัวแบบมีการจัดการ และการเร่งปรับปรุงระบบการชำระเงินของประเทศให้มีความเป็นสากลยิ่งขึ้น รัฐบาลฟิลิปปินส์มีการออกกฎหมาย Foreign Investment Act 1991 เพื่อชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ตามกฎหมายฉบับดังกล่าวนักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกิจการโดยไม่ต้องมีคนท้องถิ่นร่วมทุนในหลากหลายประเภทธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น การก่อสร้าง รถไฟฟ้า ท่าอากาศยาน และพลังงาน เป็นต้น อนึ่งรัฐบาลของฟิลิปปินส์ยังได้กำหนดนโยบายเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนโดยการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนการดำเนินธุรกิจของคนต่างด้าวให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากนั้นฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นการอุปโภคบริโภคสินค้าต่างๆภายในประเทศจึงค่อนข้างสูง หากต่างชาติต้องการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในฟิลิปปินส์จึงมีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เนื่องจากมีตลาดขนาดใหญ่ ในขณะที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียนมีนโยบายที่ให้ความเท่าเทียมกันระหว่างนักลงทุนในประเทศกับนักลงทุนต่างประเทศ กฎหมายการลงทุนของสิงคโปร์จึงเอื้อประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก ไม่มีการกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำและให้สิทธิ์ในการที่ชาวต่างชาติจะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รวมถึงไม่มีการควบคุมการโอนเงินตราต่างประเทศ และผลกำไรในการประกอบธุรกิจออกนอกประเทศ และรัฐบาลสิงคโปร์ให้ต่างชาติทำธุรกิจได้ 100 % ในหลายๆประเภท ยกเว้นธุรกิจด้านกฎหมาย การประกอบอาชีพทนายความ กิจการที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้นประเทศสิงคโปร์ยังพยายามผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในด้านต่างๆ อาทิ การเงินการธนาคาร การพาณิชย์ ด้านอวกาศ ด้านแฟชั่น การบัญชี การบินและการขนส่ง เป็นต้น ซึ่งคาดการณ์ว่านโยบายดังกล่าวจะจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนทำกิจการประเภทต่างๆในในสิงคโปร์ได้มากขึ้น จะเห็นได้ว่า 9 ประเทศสมาชิกเพื่อนบ้าน AEC นั้นต่างพยายามเตรียมความพร้อมกันอย่างสุดความสามารถเพื่อให้ชาติของตนมีความได้เปรียบและพร้อมที่จะแข่งขันเมื่อ AEC เปิด ทั้งนี้ประเทศไทยของเราก็จะต้องเร่งเตรียมความพร้อมไม่ให้น้อยหน้าอีก 9 ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังเหลือเวลาอีกสองปีก่อนที่ AEC จะเริ่มต้น แนวนโยบายส่งเสริมการลงทุนของแต่ละประเทศอาจยังมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีก จึงต้องติดตามรับฟังนโยบายส่งเสริมการลงทุนของแต่ละประเทศสมาชิก AEC กันต่อไป  ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com ดาวโหลดเอกสาร...

กลยุทธ์การลงทุน (1)

กลยุทธ์การลงทุน (1)

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม. Nakrit Sawettanan ACIArb ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าจะก่อให้เกิดตลาดลงทุนแห่งใหม่ของโลก ด้วยความสดใหม่ของทรัพยากรในอาเซียน ความมีเสรีภาพในการลงทุน ตลาดแรงงานที่ราคาไม่สูงนัก น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่จะจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาแสวงหาโอกาสในภูมิภาคอาเซียนกันมากขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างรอเปิด AEC นั้นประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศต่างพยายามวางกลยุทธ์ต่างๆ ให้ตนมีความพร้อมแข่งขันและจูงใจนักลงทุนมากที่สุด ในคอลัมน์นี้จะขอนำเสนอถึงแผนนโยบายสนับสนุนการลงทุนเบื้องต้นของสมาชิกเพื่อนบ้าน AEC ทั้ง 9 ประเทศให้นักลงทุนไทยได้รับทราบเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขัน รวมถึงมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนใน 9 ประเทศเมื่อ AEC เปิดแล้ว เริ่มต้นที่รัฐบาลบรูไนที่ได้ให้การสนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนมากขึ้น โดยอนุญาตให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเกือบทุกสาขาธุรกิจและอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% ทุกสาขา ยกเว้นแต่เพียงอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศและที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารของประเทศเท่านั้นที่ยังคงต้องมีผู้ถือหุ้นในประเทศอย่างน้อย 30% ร่วมด้วย นอกจากนี้รัฐบาลบรูไนยังให้ความสำคัญมากกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะการลงทุนเกี่ยวกับการผลิตปิโตรเคมีขั้นสุดท้ายและอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้พลังงานของบรูไน รัฐบาลกัมพูชาได้ออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนที่จะให้สิทธิประโยชน์และความมั่นใจแก่ นักลงทุนที่จะถือครองสิทธิในทรัพย์สินต่างๆ (ยกเว้นกรรมสิทธิ์ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผู้ถือครองได้ต้องเป็นบุคคลสัญชาติกัมพูชาเท่านั้น ต่างด้าวสามารถใช้สิทธิได้ด้วยการเช่าหรือสัมปทาน) และรัฐบาลให้หลักประกันแก่นักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนว่า จะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับคนในชาติและจะไม่ถูกบังคับจากนโยบายกำหนดราคาสินค้าและบริการหากมีการใช้บังคับในภายหลัง รวมทั้งสามารถซื้อและโอนเงินตราต่างประเทศไม่ว่าจะเพื่อชำระสินค้าหรือจ่ายกำไรตามระบบธนาคาร นอกจากนี้รัฐบาลกัมพูชายังมีนโยบายการค้าเสรี ไม่มีข้อกีดกันทางการค้า มีเพียงข้อห้ามการนำเข้าสินค้าบางประเภทที่กระทบกับความมั่นคง สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น อินโดนีเซีย เมื่อต้นปี พ.ศ. 2555 รัฐบาลได้ออกมาตรการใหม่เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศ โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่นักลงทุนใน 129 สาขาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำให้มีการใช้ทรัพยากรในประเทศเป็นวัตถุดิบและลดการนำเข้าสินค้าบริโภคขั้นสุดท้าย เช่น การเพาะปลูกพืช การทำเหมืองแร่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อิเล็กทรอนิกส์ ยาและอาหาร มาเลเซีย ภายใต้แผนพัฒนามาเลเซีย ปีพ.ศ. 2551-2563 รัฐบาลมาเลเซียอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ 100% ในสาขาบริการย่อย 27 สาขา ครอบคลุมบริการด้านการท่องเที่ยว สุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศและการขนส่ง รวมถึงการลงทุนในศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค ศูนย์จัดซื้อสินค้าระหว่างประเทศและการทำธุรกิจเหมืองแร่ ขณะเดียวกันยังมีการคลายข้อกำหนดการถือหุ้นของต่างชาติและเงื่อนไขด้านการส่งออกและการลงทุนด้านการผลิตอีกด้วย นอกจากนี้รัฐบาลมาเลเซียยังมีการผ่อนปรนมาตรการทางภาษีให้แก่นักลงทุนจากต่างชาติ โดยจะมีการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลจาก 28% เป็น 27% และจะลดลงเหลือ 26% ในอนาคตอันใกล้ กับทั้งรัฐบาลมาเลเซียยังมีนโยบายที่เตรียมจะยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นักลงทุนต่างชาติอีกในอัตราถึง 70-100% เป็นเวลา 5 ปีอีกด้วย สำหรับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวนั้น รัฐบาลกำลังต้องการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศอยู่แล้ว โดยตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนของลาว พ.ศ. 2552 นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในธุรกิจประเภทต่างๆ ได้มากมาย ยกเว้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือส่งผลกระทบด้านลบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพหรือขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลลาวได้อนุมัติให้มีการดำเนินโครงการ “Vientiane New World” ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างเขตเมืองใหม่ที่เกาะดอนจัน (Don Chan Island) ริมแม่น้ำโขง ในนครหลวงเวียงจันทน์ โดยรวมเอาสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความทันสมัยต่างๆ และเอื้อต่อการทำธุรกิจรวมไว้ด้วยกัน คาดการณ์ว่าโครงการนี้จะมีส่วนจูงใจนักลงทุนมากขึ้น กับทั้งจะแก้ไขปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวกและที่อยู่อาศัยที่ขาดแคลนในประเทศ นอกจากนั้นโครงการนี้จะก่อให้เกิดธุรกิจประเภทต่างๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกด้วย จะเห็นได้ว่านโยบายสนับสนุนการลงทุนของทั้ง 5 ประเทศล้วนมีจุดเด่นที่ต่างกันออกไป เหล่านักลงทุนไทยจึงควรศึกษาให้ดีและเลือกรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมต่อการเข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม AEC ยังไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ ดังนั้นนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนของทั้ง 5 ประเทศจึงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมอีกเพื่อให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น สำหรับในครั้งหน้าคอลัมน์ของเราจะนำเสนอแนวนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของอีก 4 ประเทศที่เหลือให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com...

โรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในพม่า

โรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในพม่า

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม. Nakrit Sawettanan ACIArb ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com การที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC กำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทุกประเทศสมาชิกต่างเร่งเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศของตนสามารถแข่งขันกับประเทศสมาชิกอื่นได้มากที่สุด แต่ละประเทศพยายามหาจุดเด่นเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศตน ซึ่งในครั้งที่แล้วเราได้พูดถึงการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานของประเทศไทยไปแล้ว ในคอลัมน์นี้จะขอพูดถึงการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานในประเทศพม่ากันบ้าง ตั้งแต่เปิดประเทศ พม่ากลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติรวมถึงนักลงทุนไทย โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ พม่าถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางแหล่งพลังงานมาก ดังจะเห็นได้จากการที่พม่ามีก๊าซธรรมชาติสำรองจำนวนมาก สามารถจำหน่ายให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 7.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของพม่ายังมีความสดใหม่อยู่มากและยังไม่ถูกค้นพบกับขุดเจาะอย่างจริงจัง ทำให้นักลงทุนต่างชาติอยากเข้ามาครอบครองแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พม่ามีอยู่นี้ อย่างไรก็ตามศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของพม่านั้นยังค่อนข้างจำกัด พม่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 3,361 เมกะวัตต์ต่อปี แหล่งพลังงานไฟฟ้าในพม่าร้อยละ 70 มาจากพลังน้ำ ร้อยละ 30 มาจากพลังลม ส่วนที่เหลือมาจากถ่านหิน ทั้งนี้ได้มีรายงานจาก The New Energy Architecture ซึ่งเป็นรายงานวิเคราะห์ประเด็นความท้าทายในภาคพลังงานของพม่าระบุว่า ประชากรเกือบสามในสี่ของประเทศหรือประมาณ 60 ล้านคนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ประชากรในพื้นที่ชนบทที่มีอยู่ถึงร้อยละ 70 นั้นมีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น ที่เข้าถึงไฟฟ้าได้ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข งานและการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นก่อนการเริ่มต้นของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พม่าจึงต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพของระบบการผลิตไฟฟ้าเป็นการเร่งด่วนเพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น จากรายงานข่าวล่าสุด รัฐบาลพม่าประกาศแผนว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศซึ่งจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีมูลค่า 8,200 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 210 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุน 275 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,250 ล้านบาท บนเนื้อที่ 2,000 ไร่ ที่จังหวัดมินบู (Minbu) เขตเมเกว (Magway) นครหลวงเนย์ปิดอว์ (Naypyidaw) โดยมีบริษัท กรีน เอิร์ธ พาวเวอร์ จำกัด จากไทย เป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 18 เดือน แบ่งเป็น 3 เฟส เฟสแรกกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ เฟสที่สองกำลังผลิต 70 เมกะวัตต์ ส่วนเฟสที่สามจะทำหน้าที่เข้ามาเสริมกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของพม่าให้มั่นคงมากขึ้น ซึ่งพม่าวางเป้าหมายว่าภายในปี พ.ศ. 2573 จะต้องมีกำลังผลิตรวม 30,000 เมกะวัตต์ และมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนร้อยละ 10 ด้วย ทั้งนี้ปัจจัยผกผันที่อาจจะทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่ราบรื่นนั้นอาจจะเกิดจากรัฐบาลพม่า เพราะแม้จะเปิดประเทศแล้ว แต่รัฐบาลทหารยังคงยึดครองอำนาจอยู่ ซึ่งวิธีการบริหารงานยังมีลักษณะเผด็จการ ดังนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งกะทันหันเป็นเหตุให้โครงการนี้ไม่สำเร็จแบบโรงไฟฟ้าที่ทวายหรือโครงการอื่น ๆ ที่รัฐบาลระงับคำสั่งก็เป็นไปได้ หากรัฐบาลพม่ามองว่าเป็นปัญหา จากนี้เราคงต้องตามข่าวโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพม่ากันอย่างใกล้ชิดว่าจะทำสำเร็จลุล่วงทันการเปิด AEC หรือไม่ ซึ่งหากทำสำเร็จด้วยเทคโนโลยีที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูงก็จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศพม่าให้ขึ้นมาอยู่แถวหน้าของภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแน่นอน และนักลงทุนจำนวนมากย่อมจะให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานของประเทศพม่ามากยิ่งขึ้น ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com...

ปรับปรุงท่าอากาศยานรับ AEC

ปรับปรุงท่าอากาศยานรับ AEC

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม. Nakrit Sawettanan ACIArb ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและการที่ประชากรในเอเชียมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการคมนาคมทางอากาศมากขึ้นและอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้บริษัทแอร์บัส (Airbus S.A.S) บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกคาดการณ์ไว้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าปริมาณเครื่องบินพาณิชย์ในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,400 ลำ จากปัจจุบันในเอเชียมีเครื่องบินพาณิชย์ประมาณ 4,300 ลำ สำหรับในภูมิภาคอาเซียนนั้นอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศก็เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สังเกตได้จากการเกิดของสายการบินราคาประหยัด (Low – Cost Airlines) ที่เกิดขึ้นหลายรายในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็น Nok Air, Air Asia, Jetstar, Tiger Airways เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเสนอนโยบายการเปิดเสรีทางการบินภายในภูมิภาคอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2552 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 ยิ่งมีส่วนกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศเติบโตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการเปิดเสรีทางการบินนี้ช่วยลดข้อจำกัดในการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมไปถึงการลดข้อจำกัดด้านความจุและความถี่ของเที่ยวบินระหว่างประเทศอีกด้วย จากการเติบโตของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศในอาเซียนดังกล่าวทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศต้องทำการปรับปรุงและขยายท่าอากาศยาน รวมทั้งเตรียมพร้อมในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงรันเวย์และการสร้างท่าอากาศยานเพิ่มเพื่อรองรับนักเดินทางและการขนส่งทางอากาศอื่นๆ เช่นในประเทศสิงคโปร์มีโครงการปรับปรุงท่าอากาศยานสิงคโปร์ชางงี (Changi Airport) โดยมีแผนการสร้างอาคาร Terminal 4 เพิ่ม รวมไปถึงการขยายอาคาร Terminal 1 ของสนามบิน เพื่อรองรับผู้โดยสาร ซึ่งปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมามีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยานชางงีกว่า 51.2 ล้านราย เป็นต้น ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีโครงการปรับปรุงท่าอากาศยานอยู่หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาความแออัด สนามบินไม่พอรองรับผู้โดยสาร ทั้งนี้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ได้เปิดเผยแล้วว่ามีแผนการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ซึ่งหากดำเนินการขยายเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 ล้านคน โครงการขยายท่าอากาศยานฯ ระยะที่ 2 คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ ทอท. ยังมีแผนที่จะขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในระยะที่ 3 ต่อไป เนื่องจากคาดว่าในปี พ.ศ. 2560 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 60 ล้านคน ซึ่งจะเท่ากับจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานจะรองรับได้หลังจากการขยายระยะที่ 2 จึงต้องเร่งสร้างโครงการระยะที่ 3 ให้เร็วขึ้น เพื่อมิให้ประสบปัญหาความแออัดตั้งแต่เริ่มเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ด้านท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจนทะลุ 5.1 ล้านคน ก็เตรียมที่จะปรับปรุงท่าอากาศยานเช่นกัน โดยท่าอากาศยานเชียงใหม่จะเน้นไปที่การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคารผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นบริการ Wi-Fi มุมสำหรับเด็กและมุมอ่านหนังสือเพื่อให้ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการจัดพื้นที่แสดงสินค้า OTOP และจัดการแสดงพื้นเมืองภายในท่าอากาศยานเพื่อเผยแพร่และส่งเสริมวัฒนธรรมไทยให้แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย นอกจากนี้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ยังมีนโยบายการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยพร้อมจะสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ให้เป็น Green Airport อีกด้วย ส่วนจังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชาและมีนโยบายที่จะพัฒนาจังหวัดให้เป็นประตูอีสานสู่สากล เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชาและสามารถเดินทางต่อไปถึงประเทศเวียดนามได้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์จึงมีแผนที่จะปรับปรุงสนามบินสุรินทร์ภักดี สนามบินเก่าของจังหวัดที่ปัจจุบันไม่ได้เปิดใช้เชิงพาณิชย์ ให้กลายเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ เพื่อเปิดเส้นทางคมนาคมทางอากาศ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การลงทุน จังหวัดสุรินทร์ถือเป็นประตูสู่อาเซียนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการบินของภาคอีสานตอนใต้ รองรับผู้โดยสารและการขนส่งทางอากาศในแถบอีสาน กัมพูชา และเวียดนาม อันเป็นการเพิ่มทางเลือกในการคมนาคมและขนส่งระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้อีกด้วย การปรับปรุงท่าอากาศยานต่างๆ ของไทยนี้จะช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะปรับปรุงท่าอากาศยานต่างๆ ให้ทันสมัย สะดวกสบาย พร้อมรับผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้บริการมากขึ้นเมื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2558 นั่นเอง ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com...

กองทุน AIF

กองทุน AIF

  ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม. Nakrit Sawettanan ACIArb ที่ปรึกษา www.aec-advisor.com แม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจยังถือได้ว่าล้าหลังหากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะเมื่อวัดด้วยอัตราส่วนของจำนวนทางหลวง ทางรถไฟและการเข้าถึงไฟฟ้าต่อประชากรแต่ละคน ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนหรือ ASEAN Finance Ministers จึงมีแนวคิดร่วมกันให้มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน” (ASEAN Infrastructure Fund) หรือเรียกโดยย่อว่า “กองทุน AIF” ขึ้น การจัดตั้งกองทุน AIF เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือทางการเงินของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคโดยมีวัตถุประสงค์ในการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภายในและระหว่างพรมแดนของประเทศสมาชิกอาเซียนกับทั้งส่งเสริมการนำเงินออมภายในภูมิภาคอาเซียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กองทุน AIF มีสถานะทางกฎหมายเป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศมาเลเซียซึ่งก็เป็นชาติที่ลงเงินทุนเบื้องต้นสูงที่สุดคือ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กองทุน AIF มีอำนาจในการทำสัญญาและดำเนินการต่างๆ ในนามของตนเอง มีทุนเริ่มต้นทั้งหมด 485.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นเงินร่วมลงทุนที่มาจากประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวน 335.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยกเว้นประเทศพม่าซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมในกองทุนนี้ และมาจากธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ Asian Development Bank: ADB จำนวน 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ADB นอกจากจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกองทุนนี้แล้วยังทำหน้าที่เป็นผู้บริหารกองทุนและเป็นผู้ให้ความมั่นใจว่าการลงทุนทั้งหลายของกองทุน AIF นี้จะดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผลในทางการเงินด้วย สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนการลงเงินทุนจัดตั้ง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 450 ล้านบาทและมีสิทธิในการออกเสียงร้อยละ 3.09 การชำระเงินเข้ากองทุน AIF จะแบ่งออกเป็น 3 งวดเท่าๆ กันซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องชำระเงินงวดแรกภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 งวดที่เหลือจะต้องชำระเมื่อครบรอบของแต่ละปีของการชำระเงินงวดแรก เป้าหมายของกองทุนคือการให้การสนับสนุนเงินกู้กับโครงการต่างๆ ประมาณ 6 โครงการต่อปี ในแต่ละโครงการมีเพดานการกู้ยืม (Project Limit) ไม่เกิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โครงการที่จะได้รับเงินทุนจากกองทุน AIF นอกจากจะต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วยังต้องเป็นโครงการที่สามารถลดความยากไร้ ส่งเสริมการค้า และกระตุ้นการลงทุนได้ และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับกองทุน ในช่วง 3 ปีแรกของการดำเนินการ กองทุน AIF จะให้เงินกู้เฉพาะโครงการที่เป็นของภาครัฐหรือโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น เมื่อกองทุนได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ตามเป้าหมายที่ระดับ AA แล้ว กองทุนจึงจะพิจารณาโครงการของภาคเอกชน (Private Sector Development) ต่อไป โดยภายในปี ค.ศ. 2020 กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งความหวังว่าโครงการนี้จะสามารถปล่อยเงินกู้ได้เพิ่มขึ้นในระดับ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีมูลค่าทางการเงินด้านต่างๆ รวมทั้งหมดสูงกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ กองทุน AIF ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศสมาชิกได้ร่วมลงทุนจัดตั้งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงทั้งในด้านการซื้อขาย การขนส่งสินค้า การค้าบริการและการลงทุนภายในภูมิภาค กับทั้งกองทุน AIF...